เมื่อพูดถึงไวรัสตับอักเสบ คนส่วนใหญ่คงคุ้นหูกับ “โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี” เพราะพบได้บ่อยในบ้านเรา แต่ความจริงแล้วไวรัสตับอักเสบมีหลายสายพันธ์ ซึ่งสายพันธ์อื่นๆ พบได้น้อยมากในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามโรคไวรัสตับอักเสบ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ จึงควรได้รับการตรวจรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว

ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อ “ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง” ในบ้านเรามีจำนวนประมาณ 2.2-3 ล้านราย ส่วนผู้ที่ติดเชื้อ “ไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง” จะมีประมาณ 3-7 แสนราย ทั้งนี้กว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยตับอักเสบจะไม่มีอาการผิดปกติ ยกเว้นในกลุ่มที่มีอาการผิดปกติ อาจจะมีอาการไข้ ปวดตัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม บางรายอาจมีอาการซึมหรือสับสนได้

จะรู้ได้อย่างไร? ว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ
จากการซักประวัติแล้วพบว่ามีความเสี่ยงต่อตับอักเสบ หรือมีอาการที่ชวนให้สงสัยก็จะทำการเจาะเลือดดูค่าการทำงานของตับ ซึ่งดูได้จากค่าเอนไซม์โดยรวม ตรวจหาสาเหตุของการอักเสบของตับ รวมทั้งการติดเชื้อไวรัสในตับ ซึ่งในบางรายอาจต้องทำอัลตร้าซาวด์ร่วมด้วย เพื่อดูเนื้อตับลักษณะของตับแข็ง ก้อนเนื้อในตับ

ส่วนการรักษาอาจต้องดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงอย่างไร หากเป็นตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ ก็ต้องให้หยุดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ถ้าเป็นตับอักเสบจากยาก็อาจต้องให้หยุดยาที่เป็นสาเหตุ ส่วนในกรณีที่เป็นไขมันพอกตับแล้วตับอักเสบ ก็ควรต้องลดน้ำหนักให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารควบคู่กันไปด้วย

โดยในรายที่เป็นตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี จะมียาทานต้านไวรัสลดตับอักเสบ แต่หลังจากได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยต้องมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตัว ด้วยการทานยาตามแพทย์สั่งและไปพบแพทย์ผู้รักษาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระมัดระวังการใช้ยานอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะกลุ่มสมุนไพร วิตามิน อาหารเสริมต่างๆ เพราะอาจเป็นพิษกับตับได้ นอกจากนี้ควรทานอาหารที่สะอาดและครบ 5 หมู่

ทั้งนี้เพื่อสุขภาพตับที่ดี ห่างไกลภาวะตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับ ควรปฎิบัติดังต่อไปนี้
1. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
2. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรเป็นอาหารที่สุกสะอาดถูกสุขอนามัย
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วนลงผุง
4. ไม่ใช้ของมีคมหรือเข็มร่วมกับผู้อื่นโดยเด็ดขาด
5. ใช้ยาต่างๆ ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ระมัดระวังการใช้ยาเกินขนาด เช่น ยาสมุนไพร อาหารเสริม วิตามินต่างๆ
ควรใช้เฉพาะรายที่ขาดเท่านั้น
6. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซี และเอชไอวี รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย
7. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจค่าการทำงานของตับ และในรายที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบี
ควรตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควบคู่ไปด้วย และใครที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกัน

พญ.ปานวาด มั่นจิต
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลรามคำแหง สายด่วนสุขภาพโทร 0 2743 9999 ต่อ 2999

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน