โรค ASF หรือ African Swine Fever ศัตรูตัวร้ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วโลก ไม่ว่า จะเป็นจีน เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา หรือแม้กระทั่งไทยเอง เรียกได้ว่าหากเกิดการระบาดเมื่อไหร่ ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทุกครั้งไป เพราะไม่มีวัคซีนใดที่สามารถป้องกัน และรักษาได้ สุกรจะล้มตายทันที และจะทิ้งเชื้อโรคที่คงทนนี้ไว้ในสภาพแวดล้อม รวมถึงในเนื้อ กระดูก เลือด สารคัดหลั่ง และของเสียของสุกรด้วย ทำให้เกิดการระบาดอย่างไม่รู้จบไปยังสุกรตัวอื่น ๆ

อย่างเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายสื่อได้รายงานว่า สปป. เมียนมา ได้มีการประกาศพื้นที่แพร่ระบาดของเชื้อ ASF เป็นครั้งแรกของประเทศ เนื่องจากพบสุกรป่วย และตายในฟาร์มต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยยังไม่มีการประกาศยกเลิกการระบาดของโรคจนถึงตอนนี้ เป็นเหตุผลให้ทั้งไทย และประเทศโดยรอบชะลอการนำเข้าสุกรทุกรูปแบบจากเมียนมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมาค่อนข้างมาก

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ถือได้ว่ากระแสการแพร่ระบาดยังเกิดช้ากว่าหลายประเทศอยู่มาก เห็นได้จากการจัดความร้ายแรงอยู่ที่ขั้น ‘พื้นที่เฝ้าระวัง’ แค่บางส่วนเท่านั้น อย่างเช่นล่าสุด กรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตเฝ้าระวังโรค ASF ในสุกรเพียง 27 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ราชบุรี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และเขตเฝ้าระวังบางส่วน คือ ตาก (5 อำเภอ) พิษณุโลก (2 อำเภอ) เพชรบุรี (2 อำเภอ) และกาญจนบุรี (5 อำเภอ) เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับพื้นที่โดยรวมของประเทศ

อะไรคือสิ่งที่ช่วยยับยั้งสถานการณ์โรค ASF ในสุกรของประเทศไทย ให้ไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่น?

สิ่งนี้ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่นอกจากมีภาครัฐใช้มาตรการในการเฝ้าระวังที่รัดกุม เช่น จัดตั้งด่านตรวจประจำพื้นที่ตามชายแดน และคอยสอดส่องพื้นที่เฝ้าระวัง ตลอด 24 ชม. แล้ว ยังมีผู้เกี่ยวข้องกับวงการปศุสัตว์ที่ได้นำมาตรการป้องกันมาใช้รองรับตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนจะมีการประกาศพื้นที่เฝ้าระวัง นั่นก็คือ “BIOSECURITY” มาตรการสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสัตว์ได้ ซึ่งหลายหน่วยงานได้นำมาใช้เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร รวมถึงลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และของโลก ด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในทุกกระบวนการผลิตสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุกร เช่น อาหารสุกร เพราะเชื้อโรคนี้ไม่ใช่ติดต่อจากสุกรสู่สุกรเท่านั้น แต่สามารถติดต่อจากสิ่งของ และจากคนที่สัมผัสสุกรที่ติดเชื้อสู่สุกรได้เช่นกัน

สุดท้ายอาจกล่าวได้ว่านี่คือส่วนสำคัญในการยับยั้งกระแสการระบาดของโรค AFS ในสุกร ทำให้ประเทศไทยเป็นเพียงพื้นที่เฝ้าระวัง และเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินทางโรคระบาดช้ากว่าประเทศอื่น

ทั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรควรติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากสำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ โทร 063-225-6888 หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 และต้องให้ความสำคัญกับอาหารสุกร หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุกรด้วย โดยพิจารณาจากการดูแลด้วยมาตรการ “BIOSECURITY”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน