เริ่มต้นเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี” 1 ใน 11 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีศักยภาพสูงบนแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยผู้พัฒนาเป็นบริษัทสัญชาติไทย “บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ CKP” เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 ใช้เวลากว่า 8 ปีพัฒนาพื้นที่ ออกแบบและก่อสร้างด้วยแนวคิด “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” จนกลายเป็นต้นแบบด้านวิศวกรรมสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งต่อๆ ไป สร้างความภูมิใจให้บริษัทคนไทย โดยผู้บริหารคนไทย ที่สามารถบริหารโครงการขนาดใหญ่ที่แสนซับซ้อน จนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้สำเร็จ นับว่าเป็นต้นแบบด้านวิศวกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบันมีผู้ขอเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจากทั่วโลก เพื่อเข้ามาศึกษาโครงการที่เป็นต้นแบบแห่งนี้ ซึ่งทีมงาน “ข่าวสดออนไลน์” เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีโอกาสลงพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในช่วงที่มีความคืบหน้ากว่า 99.86% จึงพอได้เห็นบรรยากาศและความพร้อมของการผลิตไฟฟ้ามาเล่าสู่กันฟัง โดยตลอดการลงพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม และผู้พัฒนาโครงการคอยอธิบายถึงแนวคิด การออกแบบ ตลอดจนขั้นตอนการทำงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้อย่างละเอียด

รู้จักโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี หรือชาว สปป.ลาวจะรู้จักในชื่อ “โรงไฟฟ้าน้ำโขง” ให้มากขึ้น จากผู้บริหารของ CKPower ที่ให้เกียรติมาอธิบายถึงความเป็นมา และวิสัยทัศน์ของการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ โดย นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง อยู่ในพื้นที่แขวงไซยะบุรี ห่างจากเมืองหลวงพระบางไปทางตอนใต้ประมาณ 80 กิโลเมตร เป็นโรงไฟฟ้าขนาดกลางที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี โดย 95% จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 5% ส่งให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์และจะเริ่มขายไฟเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปลายเดือนตุลาคม 2562 นี้

“กล้าพูดได้ว่านี่คือโครงการที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสปป.ลาว หมายมั่นให้เป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างรายได้ให้กับทางการลาวพร้อมสร้างความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นกับลูกหลานประชาชน สปป.ลาว อย่างยั่งยืนในอนาคต”

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากพอๆ กับข้อสงสัยของคนทั่วไปก็คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี กับเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งตะกอนและปลาแม่น้ำโขง ซึ่งในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นต้นเหตุความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงเพราะกักเก็บน้ำเอาไว้ ในเรื่องนี้ กรรมการผู้จัดการ CKPower ได้ย้ำวิสัยทัศน์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมของบริษัทว่า CKPower มุ่งเป็นบริษัทผู้นำที่ลงทุนด้านพลังงานสะอาดและยั่งยืนของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

ทุกโรงไฟฟ้าของ CKPower ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืน ภายใต้ความก้าวหน้าทางวิศวกรรมในทุกแขนงและเทคโนโลยีพลังงานล้ำสมัย ไม่ว่าโรงไฟฟ้าเราจะไปอยู่ที่ไหน จะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น เราต้องดูแลความเป็นอยู่ของชุมชนจนกว่าจะมั่นใจได้ว่า ชาวบ้านสามารถยืนอยู่ได้ และมีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองในระยะยาว โดยยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน นี่คือวิสัยทัศน์หลักของ CKPower

“สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เราต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ตลอดการก่อสร้าง ขณะเดียวกันก็ยึดถือข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) อย่างเคร่งครัด บวกกับการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขง จากเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท รวมกับที่ลงทุนเพิ่มเติมด้านสิ่งแวดล้อม จำนวนกว่า 19,400 ล้านบาท เพื่อตอบโจทย์ใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ ความปลอดภัย การระบายตะกอน และปลา โดยพัฒนาแบบการก่อสร้างตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักร อุปกรณ์ และกำกับควบคุมความปลอดภัยการติดตั้ง เช่น บานประตูระบายน้ำ กังหันน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลง ระบบส่งไฟฟ้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้คุณภาพและปลอดภัยสูงสุด จนถึงวันนี้ทำให้การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย เป็นที่ยอมรับของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลลาว เป็นการยืนยันว่าการออกแบบ ขั้นตอนการก่อสร้าง และการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามข้อกำหนดทุกประการ รัฐบาลลาวจึงให้ความมั่นใจ และยกให้เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่าง”

ประตูระบายน้ำและตะกอน หรือ Spillway

นายธนวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ต้นแบบ “โรงไฟฟ้ามาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด” โดยมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยทุกด้าน สิ่งแรกของการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยคือเรื่อง Dam Safety ศึกษาสถิติแผ่นดินไหวและสถิติปริมาณน้ำหลากย้อนหลัง เลือกใช้ค่าความปลอดภัยสูงสุดในการคำนวณโครงสร้างและใช้มาตรฐานสูงสุดในการก่อสร้าง สร้างความแข็งแรงให้โครงสร้างด้วยการเสริมเหล็กคุณภาพสูงเพื่อให้โครงสร้างของโรงไฟฟ้า มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวมากกว่าเขื่อนทั่วไปถึง 4 เท่า และสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้ถึง 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยน้ำหลากสูงสุดจากสถิติฝนหมื่นปี

“และเพื่อให้มั่นใจว่าตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำ ซึ่งมีความสำคัญกับคนลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นทั้งปุ๋ยธรรมชาติ เป็นอาหารสัตว์ และเป็นเครื่องบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงทั้งตะกอนหนัก ตะกอนแขวนลอย แม้แต่กรวดหินและทรายที่มากับแม่น้ำโขงนั้นต้องผ่านโครงการไปได้เสมือนว่าไม่มีสิ่งกีดขวางเราจึงสร้างประตูระบายน้ำและตะกอน (Spillway) จำนวน 11 บาน โดย 7 บานเป็นบานประตูระบายน้ำล้นและตะกอนผิวน้ำที่พัดมากับสายน้ำ ส่วนอีก 4 บาน ติดตั้งบานประตูลึกลงไปถึงระดับใต้ท้องน้ำเพื่อระบายตะกอนหนัก

ส่วนปลาแม่น้ำโขง เป็นทรัพยากรที่เราให้ความสำคัญที่สุด เรียกได้ว่าการออกแบบทุกมิติต้องเป็นมิตรกับปลาแม่น้ำโขง ซึ่งโครงการได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญทางการประมงทั้งไทย และต่างประเทศ ศึกษาพฤติกรรมปลาแม่น้ำโขงนานกว่า 1 ปี ดูพฤติกรรมปลาแม่น้ำโขงแต่ละชนิด แล้วจึงเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาปรับใช้ เพื่อที่จะลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จึงออกแบบทางปลาผ่านแบบผสม เพื่อให้ปลาอพยพขึ้นเหนือน้ำเพื่อวางไข่ได้อย่างปลอดภัย” กรรมการผู้จัดการ CKPower กล่าว

อานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด

สำหรับคนที่เป็นไกด์พาชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี “นายอานุภาพ วงศ์ละคร” รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด อธิบายโครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ว่าจุดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแห่งนี้สอดแทรกอยู่ทุกจุด

“เริ่มจากช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาวกว่า 700 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 500 ตัน พร้อมกัน 2 ลำ หน้าที่ของช่องทางเดินเรือคือช่วยอำนวยความสะดวกให้เรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวให้สามารถผ่านไปได้ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ซึ่งเดิมทีบริเวณนี้จะมีแก่งหิน ทำให้การเดินเรือบริเวณนี้ลำบากในหน้าแล้ง โดยเฉพาะเรือใหญ่จะติดแก่ง พอมี Navigation Lock ปัญหาติดเกาะแก่งในหน้าแล้งของเรือใหญ่ก็หมดไป สามารถเดินเรือได้ทุกฤดูกาล ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้าที่มาจากจีนและเรือท่องเที่ยว ล่องจากหลวงพระบางสัญจรผ่านเส้นทางนี้แทบทุกวัน ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เดือนละ 40 ลำ”

ช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock

ส่วนถัดมาที่ ประตูระบายน้ำและระบายตะกอน หรือ Spillway ทั้ง 11 บาน ที่ระบายน้ำได้สูงสุดถึง 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยจะเปิดระบายน้ำในกรณีที่มีน้ำไหลเข้าโครงการมากเกินปริมาณที่ใช้ผลิตไฟฟ้าคือ 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เท่ากับว่าประตูระบายน้ำจะช่วยรักษาสมดุลน้ำไหลเข้าให้เท่ากับน้ำไหลออกตามอัตราการไหลของธรรมชาติ พร้อมทั้งทำหน้าที่ระบายตะกอน 2 ชนิด คือตะกอนหนักและตะกอนผิวน้ำ ที่ไหลมากับกระแสน้ำให้ลงสู่ท้ายน้ำเป็นอาหารปลาและปุ๋ยธรรมชาติต่อไป

ห้อง Control Room เป็นส่วนหนึ่งใน Powerhouse เพื่อบริหารจัดการน้ำและควบคุมการผลิตไฟฟ้า

ส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์ Fish Friendly ที่เป็นมิตรกับปลาในแม่น้ำโขง เปิดโอกาสให้ปลามีทางเข้า-ออกตลอดทั้งโครงการและมีอัตรารอดชีวิตสูง พื้นที่ของโรงไฟฟ้า หรือ Powerhouse จึงเลือกติดตั้งกังหันน้ำ (Turbine) ขนาด 5 ใบพัด เส้นผ่านศูนย์กลาง 8.6 เมตร น้ำหนัก 400 ตันติดตั้งไว้ด้านล่าง เหตุผลของการเลือกกังหันน้ำ 5 ใบพัด เพราะรอบหมุนช้า โดยเรียงกังหันน้ำในแนวตั้ง กระจายตามความกว้างของลำน้ำ เมื่อปลาผ่านเข้ามาในโรงไฟฟ้าจะสามารถผ่านไปได้และมีอัตราการรอดสูง

แล้วก็มาถึงจุดที่เป็นไฮไลต์ของโครงการ คือ ระบบทางปลาผ่าน ที่ออกแบบเพื่อปลาแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ จากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญได้ระบบทางปลาผ่านแบบผสมหรือ Multi-System Fish Passing Facilities ประกอบด้วยส่วนที่เรียกว่า ทางปลาผ่านหลัก หรือ Fish Ladder ที่ยื่นออกมาด้านท้ายน้ำ และ Fish Lock ช่องยกระดับปลาเป็นส่วนที่ติดกับโรงไฟฟ้า เชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำด้านเหนือโรงไฟฟ้า

ระบบทางปลาผ่านรูปตัวยู (U) พื้นที่เชื่อมต่อโรงไฟฟ้าเพื่อให้ปลาอพยพสามารถว่ายข้ามไปวางไข่เหนือน้ำได้

นี่เป็นเพียงการรีวิวเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะไปเจาะลึกแต่ละส่วนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี อีกครั้ง

เพราะนี่คือผลงานที่สะท้อนความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้ากับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนลำน้ำโขงที่ใส่ใจศึกษาวิถีธรรมชาติของแม่น้ำ มุ่งมั่นเพื่อมาตรฐานสูงสุด คัดเลือกเทคโนโลยีที่ดีและทันสมัยที่สุด ให้ความสำคัญในการวางแผนจัดการดูแลรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำโขง เพื่อให้ไฟฟ้าสะอาดเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน