ภาพจำของผู้คนทั่วไป เมื่อเอ่ยคำว่า “เขื่อนผลิตไฟฟ้า” มักจินตนาการถึงสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่กางกั้นและกักเก็บน้ำ ทว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี” ในพื้นที่ระหว่างแขวงไซยะบุรีและแขวงหลวงพระบาง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะนี่คือโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบ Run-of-River ที่เปลี่ยนสายน้ำอันไม่หยุดนิ่งให้เป็นพลังงานสะอาดโดยไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดน้ำท่วมขังหรือความแห้งแล้ง ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ผู้พัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี

และต่อไปนี้คือเรื่องราวของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบ Run-of-River ที่ไซยะบุรี อันเป็นต้นแบบวิศวกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลักการแตกต่าง ไม่สร้างแล้ง-ท่วม

เริ่มต้นที่การพูดคุยกับ นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ CKP ผู้พัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ซึ่งเน้นย้ำความแตกต่างสำคัญระหว่างโรงไฟฟ้าแบบกักเก็บน้ำ กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบ Run-of-River ว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภทนี้ เป็นรูปแบบที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่มีการทำงานตลอดเวลาตามปริมาณน้ำที่ไหลในแม่น้ำ โดยมักสร้างอยู่ในบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบ ด้วยลักษณะของภูมิประเทศเช่นนี้ทำให้ความแตกต่างของระดับน้ำระหว่างเหนือน้ำและท้ายน้ำมีความแตกต่างกันไม่มากนัก

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

“โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบ Run-of-River มักก่อสร้างในบริเวณที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก และมีน้ำไหลตลอดปี แต่มีภูมิประเทศที่ไม่สูงชัน เราจะไม่มีการกักเก็บ ลักษณะของโรงไฟฟ้าเองก็มีความสูงไม่มากนัก ประมาณ 30 เมตร หลักการคืออาศัยการยกระดับน้ำขึ้นมาให้มีส่วนต่างกับท้ายน้ำ การยกระดับทำเพียงครั้งเดียวในเดือนตุลาคม 2561 วันละประมาณ 60 เซนติเมตร ประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นระดับน้ำจะคงที่อยู่ที่ระดับ 275 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีความต่างกับท้ายน้ำ 30 เมตร เพื่อประโยชน์ของการผลิตไฟฟ้า” นายธนวัฒน์ อธิบาย ก่อนเล่าต่อไปว่า สำหรับปริมาณน้ำที่เข้ามาจะถูกปล่อยผ่านโรงไฟฟ้าในการผลิตไฟ หากน้ำมามากเกินความสามารถในการผลิตไฟหรือมากกว่า 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ก็จะปล่อยน้ำส่วนเกินผ่านประตูระบายน้ำ หรือ Spillway ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีการกักเก็บน้ำแน่นอน

“การที่เรายกระดับน้ำขึ้นมาไม่มาก ทำให้ไม่เกิดผลกระทบกับคนเหนือน้ำ น้ำที่อยู่เหนือโรงไฟฟ้า พลังน้ำไซยะบุรี ก็คงที่และไหลตามกระแสของแม่น้ำโขงเช่นเดิม ไม่ได้มีการท่วมพื้นที่แต่อย่างใด”

สำหรับ Spillway ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้ ระบายน้ำได้สูงสุด 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงที่สุดตามมาตรฐานความแข็งแรงและความปลอดภัย (Dam Safety) สามารถระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก และยังสามารถลดโอกาสและความรุนแรงของการเกิดน้ำท่วมฉับพลันจากปริมาณน้ำฝนหรือน้ำป่าไหลหลากได้อีกด้วย








Advertisement

ไหลเท่าไหร่ ผลิตเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญระดมสมอง เลือกสิ่งที่ ‘ดีที่สุด’

วิศวกรตรวจสอบปริมาณน้ำไหลเข้าโรงไฟฟ้า เพื่อรักษาสมดุลน้ำไหลเข้า ให้เท่ากับน้ำไหลออก

ทำความเข้าใจในหลักการไปแล้ว มาเรียนรู้ในรายละเอียดเพิ่มเติมกันอีกนิด

นายอานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด อธิบายว่า โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แบบ Run-of-River อาศัยแรงไหลของน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ความแตกต่างของระดับน้ำเหนือโรงไฟฟ้าและท้ายโรงไฟฟ้ามีขึ้นเพื่อให้มีศักยภาพในการไหลเท่านั้น

“เรายกระดับน้ำให้มีความแตกต่างกันสำหรับให้น้ำมีศักยภาพในการไหล หลังจากนั้นคือ น้ำไหลมาเท่าไหร่ เราก็นำมาผลิตไฟฟ้าเท่านั้น นี่คือหลักการสำคัญของ Run-of-River คือไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้เพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ต้องดูว่าน้ำมาปริมาณเท่าไหร่ เราก็นำมาผลิตผลิตไฟฟ้าได้เท่านั้น” อานุภาพเล่า ก่อนลงลึกถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ‘ตะกอน’

 

Run-of- River น้ำไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นตะกอนผิวน้ำจึงพัดไปกับกระแสน้ำทั้งทางประตูระบายน้ำหรือเส้นทางโรงไฟฟ้า แต่สำหรับตะกอนหนักที่จมอยู่ใต้ท้องน้ำ มีการออกแบบบานประตูให้ระบายตะกอนหนักได้ด้วย โดยมีประตู 4 บานที่กดระดับลงไปท้องน้ำ (Spillway/Low Level Outlet) สามารถชะตะกอนหนักให้ผ่านโรงไฟฟ้าไปได้ โดยไม่มีการทับถมกันในช่วงเหนือน้ำของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี

แม้ไม่ใช่สิ่งที่คุ้นหู แต่ Run-of-River คือเทคโนโลยีที่มีมานานแล้ว ทว่า ความพิเศษของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี คือการคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา รวมถึงนำสิ่งที่ดีที่สุดของทุกโครงการในอดีตมารวมกัน โดยนำจุดเด่นมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งยังได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากทั่วโลก ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลลาว เพื่อยืนยันว่าการออกแบบ ขั้นตอนการก่อสร้าง และการดูแลชุมชน เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ทุกประการ และเป็นโครงการที่รัฐบาลลาวให้ความมั่นใจ เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่างในอนาคต” นายอานุภาพ ยังเน้นย้ำว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำในรูปแบบนี้ ‘ไม่มีผล’ ต่อ ‘น้ำท่วม’ และ ‘น้ำแล้ง’ อย่างแน่นอน

ประตูระบายน้ำขนาดใหญ่(Spillway) เปิดใช้งานเมื่อมีน้ำเข้ามาในโครงการเกินกำลังการผลิตไฟฟ้า

บรรยากาศโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จากฝั่ง Powerhouse

“โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบ Run-of-River ทำมาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ไม่สามารถเก็บกักน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำได้ จึงไม่มีผลต่อน้ำท่วมหรือน้ำแล้งเลย เป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำก่อนที่จะปล่อยน้ำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น น้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะมีคุณสมบัติเหมือนเดิมทุกประการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” นี่คือบทสรุปที่ชัดเจน และเป็นไปตามหลักการ จากปากของกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด

สมเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากความมุ่งมั่นสร้างพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมี ‘ธรรมชาติ’ เป็นต้นแบบ สายน้ำโขงที่ไหลอย่างไม่หยุดนิ่งจึงแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่กระทบต่อชีวิตของผู้คน หากแต่รังสรรค์สิ่งใหม่ที่ช่วยพัฒนาความก้าวหน้าอย่างสอดคล้องกับวิถีดังเช่นที่เป็นมาเนิ่นนานในอดีตจวบจนปัจจุบัน.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน