ชาวบ้านในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างที่อาศัยใน 7 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และ อ.เมือง อ.หนองหาน อ.พิบูลย์รักษ์ อ.เพ็ญ อ.บ้านดุง และ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.35 ล้านไร่ ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นที่ลุ่มต่ำ เป็นแอ่งกระทะอยู่ใกล้แม่น้ำโขง พอช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงกว่าระดับน้ำในลำน้ำห้วยหลวง ทำให้มวลน้ำในลำน้ำห้วยหลวงไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่กว่า 90,000 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 250 ล้านบาท/ปี ส่วนฤดูแล้งน้ำในลำน้ำห้วยหลวงมีระดับค่อนข้างต่ำ ไม่มีอาคารบังคับน้ำ ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ทำให้มีน้ำท่วมพื้นที่มากที่สุดถึง 215,147 ไร่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ราบลุ่มซึ่งมักจะประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปีจนพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย หลายครัวเรือนจึงเปลี่ยนมาทำนาปรังหลังน้ำลดแทน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำห้วยหลวง แต่ในช่วงฤดูแล้งประชาชนก็ยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่เช่นเดิม เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ ต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำห้วยหลวงเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูทำนาปรังระดับน้ำในลำน้ำห้วยหลวงจะเริ่มลดลง ทำให้นำน้ำขึ้นมาใช้ลำบากขึ้น แม้จะมีประตูระบายน้ำลงแม่น้ำโขง แต่เก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้เต็มที่เพียง 60 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น เพราะน้ำจะบ่าท่วมพื้นที่สองฝั่งได้ โดยสรุปปีหนึ่งๆ ห้วยหลวงปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงร่วม 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อทั้ง 2 จังหวัด ที่ยังคงเผชิญปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำซ้ำซาก

ปี พ.ศ. 2557 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการจ้างสถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างอย่างเต็มศักยภาพ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการศึกษาทุกขั้นตอน ซึ่งศึกษาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 ผลการศึกษาสามารถบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับชาวบ้านในพื้นที่ช่วงฤดูฝน 315,195 ไร่ และพื้นที่ช่วงฤดูแล้ง 250,000 ไร่

ปี พ.ศ. 2559 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลี ในการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง สาธารณรัฐเกาหลี – ราชอาณาจักรไทย ได้มีการกล่าวถึงความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในประเด็นการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งไทยได้แจ้งความคืบหน้าการจัดทำแผนโครงการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการฉบับใหม่ และได้เชิญชวนรัฐบาลเกาหลีใต้เข้าร่วมดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย ในรูปแบบความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยการหารือกับทางเกาหลีใต้ ได้ข้อสรุปว่า ควรเพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองเพื่อเร่งระบายลงแม่น้ำโขงในช่วงฤดูฝน ปรับปรุงประตูระบายน้ำในลำน้ำห้วยหลวง จำนวน 3 แห่ง และก่อสร้างพนังกั้นน้ำ เพื่อควบคุมน้ำ ในฤดูแล้งสามารถสูบน้ำจากแหล่งเก็บกักน้ำตามลำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา กระจายน้ำให้กับพื้นที่เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ และมีข้อเสนอแนะให้ ริเริ่มระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นระบบแสดงข้อมูล และประมวลผลแบบเรียลไทม์ เพื่อการพยากรณ์อากาศและการเกิดอุทกภัย

วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนิน “โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำห้วยหลวงตอนล่าง” จังหวัดหนองคาย เนื่องจากมีความพร้อมและไม่ติดปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบกับแม่น้ำโขง โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เร่งดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี (พ.ศ.2561-2569) แต่เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สั่งเร่งรัดโครงการให้เร็วขึ้น โดยกรมชลประทานจึงปรับแผนให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 7 ปี เพื่อใช้ประโยชน์เร็วขึ้น วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 21,000 ล้านบาท

ดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่วาว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีแผนงานก่อสร้างหัวงานโครงการจำนวนทั้งสิ้น 36 หัวงาน ตั้งอยู่ตามลำน้ำห้วยหลวง โดยมีที่ทำการหลักตั้งอยู่ที่บ้านแดนเมือง ตำบลวัดหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย โดยมีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำตามลำน้ำหลักและลำน้ำสาขา และก่อสร้างระบบการจายน้ำสู่พื้นที่เพาะปลูก ประกอบด้วย 5 งานหลัก คือ

  1. สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง เพื่อสูบน้ำจากลำน้ำห้วยหลวง ระบายลงสู่แม่น้ำโขงช่วงฤดูน้ำหลาก สามารถลดพื้นที่และระยะเวลาของการท่วมขัง โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Vertical Mixed Flow Pump ขนาด 15 ลูกบาศก์ เมตร/วินาที จำนวน 10 เครื่อง รวมอัตราสูบน้ำสูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำและรับน้ำในช่วงน้ำหลาก เร่งระบายน้ำลงสู่ แม่น้ำโขง และเพิ่มปริมาณน้ำแก่ลำน้ำห้วยหลวงในฤดูแล้ง
  2. พนังกั้นน้ำช่วงที่ตลิ่งต่ำตามแนวลำน้ำห้วยหลวงความยาวรวม 47.02 กม. – พนังกั้นน้ำเดิมยาว 18.60 กม. – พนังกั้นน้ำใหม่ยาว 28.42 กม. เพื่อช่วยป้องกันผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนว เขตน้ำท่วม
  3. อาคารบังคับน้ำตามลำน้ำห้วยหลวงและลำน้ำสาขา 15 แห่ง – อาคารตามลำนำสาขา 12 แห่ง – อาคารตามลำนำห้วยหลวง 3 แห่ง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำและรับน้ำในช่วงน้ำหลาก เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ
  4. ระบบส่งน้ำชลประทานขนาดกลางจำนวน 13 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 315,195 ไร่ – ระบบโครงข่ายน้ำชลประทานเดิม 1 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 15,000 ไร่ – ระบบโครงข่ายน้ำชลประทานใหม่ 12 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 300,195 ไร่ เพื่อกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรในเขตจังหวัดหนองคายและอุดรธานี
  5. ระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ เป็นระบบแสดงข้อมูลและประมวลผลแบบเรียลไทม์ เพื่อการพยากรณ์อากาศ คาดการณ์ปริมาณน้ำและโอกาสเกิดอุทกภัย ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ประโยชน์อันมหาศาลที่ชาวบ้านในละแวกนั้นจะได้รับ หลังจากโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำห้วยหลวงตอนล่างดำเนินการเป็นที่แล้วเสร็จ คือ สามารถลดพื้นที่น้ำท่วมในเขต จ.หนองคายและ จ.อุดรธานี ได้ 54,390 ไร่ มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นในลำน้ำห้วยหลวงและแก้มลิงต่างๆ จำนวน 245.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค การเกษตร การปศุสัตว์ การอุตสาหกรรม และการรักษาระบบนิเวศ สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม จำนวน 15,000 ไร่ และสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ จำนวน 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 37 ตำบล 7 อำเภอ 2 จังหวัด จำนวน 284 หมู่บ้าน 29,835 ครัวเรือน ส่วนในฤดูแล้งสามารถ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 250,000 ไร่ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งประมงสำหรับเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและเป็นรายได้เสริม หรือมีนโยบายพัฒนาภูมิทรรศน์โดยรอบเพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน