ทุกวันนี้ “อีสปอร์ต” เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ที่นักกีฬาไทยลงแข่งขันจนสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก ยิ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 กันยายนปีนี้ ให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพ ก็ยิ่งเป็นการยกระดับการแข่งขัน พร้อมหนุนให้หลายธุรกิจได้เติบโตไปด้วย เป็นที่มาของสัมมนา “ศักยภาพ ESPORTS ไทย สู่สากล วิถีชีวิตยุคดิจิทัล” เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่อาคารมติชน งานสัมมนาครั้งประวัติศาสตร์แห่งวงการอีสปอร์ต ที่ผู้นำภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ของประเทศมาร่วมเวทีเดียวกัน ประกาศก้องสนับสนุนอีสปอร์ตไทยให้ก้าวไกลระดับโลก!

หนุน “อีสปอร์ต” เต็มที่

เมื่ออีสปอร์ตคือกีฬามาแรง สอดรับกับเทคโนโลยีดิจิทัล ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) จึงหนุนเต็มที่ โดยรับนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านการเล่นกีฬาอีสปอร์ต ทั้งยังเป็นการกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจอื่นๆ มาเดินหน้าเต็มกำลัง

รมว.ชัยวุฒิ เผยสถิติรายได้ของกีฬาอีสปอร์ตทั่วโลกว่าสูงขึ้นต่อเนื่อง ปีนี้คาดว่าอยู่ที่ราว 1.084 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3.63 หมื่นล้านบาท และน่าจะไปถึง 1.617 พันล้านเหรียญใน พ.ศ. 2567 โดยประเทศที่ทำรายได้หลักสูงสุดในกีฬาอีสปอร์ต คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือจีนและเกาหลีใต้ ขณะที่จำนวนผู้ชมอีสปอร์ตก็เพิ่มไม่หยุด

“แม้ไทยจะยังไม่ติดท็อป 10 แต่ผมว่าผู้เล่นของเรามีไม่น้อย และในเชิงธุรกิจเรายังพัฒนาให้เข้มแข็งได้อีก ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงจากอีสปอร์ต” รมว.ชัยวุฒิ ย้ำหนักแน่นในปาฐกถาพิเศษชื่อเดียวกับงาน

“อีโคซิสเต็ม” หรือระบบนิเวศของอีสปอร์ตก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ซึ่ง รมว.ชัยวุฒิเผยว่า กระทรวงฯ ได้ประสานทุกภาคส่วน โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน เพื่อให้อีสปอร์ตไทยโตไกลระดับโลก

ปั้นอีสปอร์ตสู่กีฬาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นอกจาก รมว.ชัยวุฒิ ในงานยังมีเสวนา “ESPORTS โอกาสใหม่แห่งยุคดิจิทัล” มีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนมุมมองถึงการเติบโตของอีสปอร์ต ที่จะเป็นความหวังใหม่ของคนไทยและเศรษฐกิจไทย

เนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้ผลักดัน “ซอฟต์ เพาเวอร์” อย่างอีสปอร์ต เป็นความหวังใหม่ของไทย โดยวางไว้ว่าใน 3 ปี วงการอีสปอร์ตต้องมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น และเกมที่ผลิตโดยบริษัทในไทย ต้องได้รับความนิยมไม่แพ้เกมจากต่างประเทศ แล้วบอกว่า อีสปอร์ตในไทยจะโตได้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าการเล่นเกมไม่ใช่สิ่งไม่ดี เพราะหากฝึกฝนจนเก่งก็จะสร้างรายได้มหาศาล

ดร.ประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้ว่า ความเร็วและความเสถียรของอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงเกมในวงกว้างได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะในไทยที่มีระบบนิเวศการเล่นเกมที่พร้อม เพราะมีเทคโนโลยี 5G คาดว่า 4-5 ปีข้างหน้า คนจะเข้าถึงเกมง่ายขึ้นกว่านี้ เกิดเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตใหม่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี

“เป้าหมายของ กสทช. นับจากนี้ คือ การเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มความเร็วให้ครอบคลุมขึ้น รวมทั้งยังมีแผนใช้ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนของ กสทช. ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นแหล่งส่งเสริมการเล่นเกม เพื่อตามหาและบ่มเพาะนักกีฬาจากทั่วประเทศมาฝึกฝนให้เก่งขึ้นด้วย”ส่วน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เผยว่า เป้าหมายต่อไปของรัฐบาล คือ ดึงภาคธุรกิจด้านเกมจากต่างประเทศเข้ามาอยู่ในไทย เพื่อพัฒนาระบบนิเวศที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“ตอนทำแผนส่งเสริมเกมให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีข้อถกเถียงว่าเกมคือสิ่งมอมเมาเด็กและประชาชน แต่เราอยากให้มองว่า จะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาเกมให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ประเทศไทย ดังนั้น ต้องเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเด็กติดเกมให้ได้ว่าเด็กติดเกมคือเด็กที่มีอนาคต”

ด้าน ดร.ต่อบุญ พ่วงมหา กรรมการผู้จัดการ ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม และ ออนไลน์ สเตชั่น บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด หยิบยกเรื่องความสำคัญของสปอนเซอร์ว่ามีส่วนสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมเกม เพราะนักกีฬาอีสปอร์ตก็เหมือนนักกีฬาอาชีพอื่นๆ ที่มีรายได้จากการสนับสนุนของสปอนเซอร์ ยิ่งมีแบรนด์สนับสนุนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น รวมถึง “เกม แคสเตอร์” ก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน

ดร.ต่อบุญ ยังคาดการณ์ถึงโอกาสจากเมตาเวิร์สด้วยว่า เป็นการสร้างโมเดลธุรกิจที่น่าจับตาในโลกการลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล เกิด “Play to Earn” หรือการเล่นเกมเพื่อสร้างรายได้ สามารถนำเงินจากโลกเสมือนมาแลกเป็นเงินสดได้จริง และเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาว่าภาครัฐจะช่วยผลักดันให้ถูกที่ถูกทางได้อย่างไร

ขณะที่ รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ รักษาการ กรรมการผู้จัดการ พันธมิตรธุรกิจด้านบันเทิงและคอนเทนต์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เผยว่า เกมเมอร์ทั่วโลกมีราว 3 พันล้านคน ในไทยมีผู้เล่น 32 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนสูงถึง 3.4 หมื่นล้านบาท

“ปัจจุบันกระแสนิยมอีสปอร์ตในไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น และยังเติบโตอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน มีปัจจัยสำคัญจากการบรรจุให้อีสปอร์ตเป็นกีฬาอาชีพ และได้รับการรับรองให้แข่งขันในซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ หากนักกีฬาคว้าเหรียญรางวัลได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระตุ้นให้สังคมสนใจอีสปอร์ตมากขึ้นเท่านั้น”

เปิดตัว “META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE” สุดยิ่งใหญ่

เมื่อหลายฝ่ายขานรับอีสปอร์ต ต้นปีหน้า คนไทยจะได้เห็นการแข่งขัน META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE ที่จัดขึ้นเป็นปีแรก ระหว่างวันที่ 21-23 มกราคม ปี 2565 ในรูปแบบออนไลน์สุดล้ำ ให้ผู้แข่งขันได้มาประชันฝีมือชิงเงินรางวัลกว่า 1 ล้านบาท

ฐานนท์ เรืองวิวัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอกซ์ดรีม สปิริต จำกัด ผู้จัดงาน META THAILAND 2022 เล่าถึงที่มาของการจัดงานว่า จากตัวเลขที่เกมและอีสปอร์ตเติบโตทุกปี เป็นโจทย์ว่าถ้าทำให้ไทยเป็นฮับของเกมและอีสปอร์ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขึ้นชั้น 1 ใน 5 ของเอเชียได้ ก็จะช่วยสร้างนักกีฬาอีสปอร์ตเก่งๆ เป็นฐานผลิตเกม ดึงดูดนักท่องเที่ยว และดึงเม็ดเงินลงทุนมหาศาลได้ จึงจัดการแข่งขันขึ้น เพื่อสร้างความรับรู้และความคึกคักให้วงการอีสปอร์ต

“งานนี้มี 4 คำ คือ ‘Kick off’ เปิดตัวเป็นโครงการนำร่องให้มีโครงการอื่นๆ ตามมา ‘Inspire’ ให้ข้อมูลและแรงบันดาลใจแก่เยาวชน เพราะในงานมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ มีนักกีฬาอีสปอร์ตระดับประเทศและระดับโลก และมีผู้บริหารทีมอีสปอร์ตมาแบ่งปันประสบการณ์ ต่อมาคือ ‘Drive’ ขับเคลื่อนโอกาสใหม่ๆ ให้ทุกคนเห็นว่าภาครัฐเอาจริงแล้ว สุดท้าย ‘Collaboration’ ทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมกันเพื่อดึงเงินเข้าประเทศ”

ด้าน ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ Director of Sea (Thailand) GARENA ONLINE (THAILAND) COMPANY LIMITED พาร์ทเนอร์ของ META THAILAND 2022 กล่าวถึงความร่วมมือครั้งใหญ่นี้ว่า การีนาทำธุรกิจให้บริการเกมและสนับสนุนอีสปอร์ตในไทยมายาวนาน เห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้มาตลอด และมองว่าไทยมีโอกาสและศักยภาพสูง จึงยินดีอย่างมากที่วันนี้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีสปอร์ต

“การีนามาต้องไม่ธรรมดา การแข่งขันครั้งนี้มี 2 เกมดังระดับโลกให้ผู้แข่งขันร่วมประชันฝีมือ คือ Garena Free Fire ที่ตอนนี้มียอดดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 1 พันล้านครั้ง และสร้างสถิติมีคนชมการแข่งขันพร้อมกันสูงสุดทั่วโลก 5.4 ล้านคน และ Garena RoV ที่บรรจุในซีเกมส์ 2019 และทีมนักกีฬาไทยก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้

“งานนี้ยังมีกิจกรรมน่าสนใจอื่นๆ อีก อย่าง Garena Academy ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญอีสปอร์ตมาถ่ายทอดเรื่องน่ารู้ต่างๆ ในแวดวงอีสปอร์ต รวมทั้งมีนักกีฬาอาชีพมาแบ่งปันประสบการณ์ รับรองว่าเอ็กซ์คลูซีฟแน่นอน” ดร.ศรุต บอกไฮไลต์

ใครที่อยากประลองฝีมือ ผู้จัดงาน META THAILAND 2022 ลงรายละเอียดว่า Garena Free Fire รับสมัครภาคละ 108 ทีม รวม 432 ทีมทั่วประเทศ ส่วน Garena RoV รับสมัครภาคละ 128 ทีม รวม 512 ทีมทั่วประเทศ สมัครได้ตั้งแต่วันนี้-28 ธันวาคมนี้ ที่ www.metathailand.io จากนั้นจะมีการแข่งขันเรื่อยๆ กระทั่งถึงรอบสุดท้ายในวันที่ 21-23 มกราคม ปี 2565 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท

ภาครัฐและภาคเอกชนจับมือเดินหน้าเต็มกำลังขนาดนี้ รับรอง “อีสปอร์ต” เมืองไทย สดใสแน่นอน!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน