การคุกคามทางเพศ หรือ ‘sexual harassment’ เป็นภัยสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในระยะหลังมานี้ ซึ่งไม่เพียงสะท้อนถึงสถานการณ์การคุกคามทางเพศที่ปรากฏเป็นระยะบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อโซเชียลมีเดีย หากยังสะท้อนถึงความตระหนักรู้ ที่คนส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจว่า‘การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบ ไม่เพียงแต่ร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคำพูดหรือข้อความที่ส่อไปในทางเพศอีกด้วย

แม้มีทิศทางที่ดีขึ้น แต่สังคมไทยในภาพใหญ่ยังมองเรื่องเหล่าเป็นเรื่องปกติ บ่อยครั้งเมื่อเกิดเหตุ ปัญหามักจบลงด้วยการพูดคุยหรือเจรจาไกล่เกลี่ย เป็นผลให้การคุกคามทางเพศยังคงฝังลึกอยู่ในสังคมไทย เป็นที่มาของงานเสวนาทางวิชาการ ‘ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ : ปกป้อง คุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร?’ จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อจุดประกายนำพาสู่ข้อคิดเห็นหาทางออกปัญหา ไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่ออีกต่อไป

น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวเปิดงานเสวนา สรุปว่า อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ระบุให้การคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง อันเป็นการเลือกปฏิบัติ ที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ทั้งความเท่าเทียมเทียมในสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในร่างกาย สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมาย ความเสมอภาคในครอบครัว และการอยู่อาศัย หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของ กสม. พบรายงานสถิติสตรี ที่ถูกกระทำรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้ตกเป็นเหยื่อมีทั้งผู้หญิง เด็กผู้หญิง คนพิการ และบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

นอกจากนี้ ยังพบสถานการณ์ปัญหาการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปรากฏเป็นข่าว และไม่ปรากฏเป็นข่าว เนื่องจากผู้ตกเป็นเหยื่อมักไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมทั้งพบอุปสรรคการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และการได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยากนำเสนอไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ต้องประเมินมาตรการและติดตามการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น รวมทั้งจัดให้มีบริการช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง ทั้งความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การบริการสุขภาพ การดูแลจิตใจ ไปจนถึงการช่วยเหลือทางสังคม ให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้”

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวบรรยายในหัวข้อ ‘การคุกคามทางเพศ และการล่วงละเมิดทางเพศ : สถานการณ์ แนวคิด และ ข้อเสนอสำหรับสังคมไทย’ โดยชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาอันดับหนึ่งของผู้หญิงในสังคมไทย ผู้กระทำความรุนแรงทางเพศเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย ที่อยู่ในทุกอาชีพ ทุกระดับการศึกษา และส่วนใหญ่ไม่ถูกลงโทษ

พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนถึงความผิดปกติของสังคม ความไม่ปกติของระบบคุณค่าวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่นำไปสู่การตีตราผู้เสียหาย ที่มักกล่าวโทษผู้ตกเป็นเหยื่อว่า เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ รวมถึง วัฒนธรรมเงียบ ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงและเหยื่อต้องยอมจำนน และไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวเมื่อถูกกระทำ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้กระทำเป็นผู้มีพระคุณ หรือมีอำนาจสูงกว่า เป็นเหตุให้เกิดการกระทำความรุนแรงทางเพศเช่นเดิมซ้ำๆ

“ดังนั้นแล้ว ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องหันมาร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องเพศสัมพันธ์ ที่จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย”

ในงานเสวนาวิชาการเรื่องปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ยังมีเวทีอภิปรายเรื่อง ‘แนวทางในการดูแลช่วยเหลือ/กลไกคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาที่เหมาะสม และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล’ โดยมี นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (มญช.) หนึ่งในวิทยากรบนเวที ผู้มีประสบการณ์และทำงานในเรื่องดังกล่าวร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหา

นายจะเด็จระบุว่า ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่า เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน อายุ 6-10 ปี 26 ราย อายุ 11-15 ปี 275 ราย อายุ 16-20 ปี 208 ราย อายุ 21-25 ปี 24 ราย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศมากที่สุด และยังสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจทางเพศ ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้แทบไม่มีอยู่เลยในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนหลายรายมักถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคนในครอบครัว รองลงมาเป็นสถานศึกษา และวัด

“เคสที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้ คือ ปัญหาการข่มขืนในสถานศึกษา ที่ตอนนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัญหาหลัก คือ ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ไม่อยากแจ้งความ อีกทั้งผู้ตกเป็นเหยื่อไม่รู้วิธีการที่จะดำเนินการหลังถูกกระทำที่ถูกต้อง จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่สถานศึกษาต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถี ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคม รวมถึงการเปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของเด็กและเยาวชน ที่ถูกกระทำล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะในสถานศึกษา หรือนอกสถานศึกษาให้เพียงพอและเหมาะสม”

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่เพียงแต่เด็กและผู้หญิงเท่านั้น ปัจจุบันยังพบผู้ชายที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียงในประเด็นการร้องทุกข์ของผู้ตกเป็นเหยื่อโดยเฉพาะข้อกฎหมาย ที่ยังไม่ทำความเข้าใจพอต่อประเด็นนี้ โดยนายจะเด็จย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่กฎหมายและสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและคุกคามทางเพศว่า ไม่ว่าเพศไหนก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้

“ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง เริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องละเอียดในประเด็นทางเพศ มีการฝึกอบรมเพศภาวะอย่างจริงจัง ส่วนในแง่กฎหมายควรจะปรับหรือปฏิรูปให้สอดคล้องกับยุคใหม่มากขึ้น และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ควรมีพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิง ที่ก้าวจากนักเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน