เป็นระยะเวลากว่าสองปีที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่าง โควิด19 ถึงอย่างนั้น ทุกอย่างก็จำเป็นต้องเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่เป็นหนึ่งแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เป็นที่มาของงานสัมมนาออนไลน์2022 PTT Group The Petrochemical Outlook Forumหัวข้อMoving forward in the PostCOVID eraงานสัมมนาสุดยิ่งใหญ่ประจำปีของ PRISM กลุ่ม ปตท. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยปีนี้ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 และเป็นปีแรกที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนเข้าร่วมการสัมมนานี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก และการปรับตัวของธุรกิจปิโตรเคมีหลังสถานการณ์โควิด19 ผ่านมุมมองของนักวิเคราะห์มากความสามารถจาก PRISM กลุ่ม ปตท. และวิทยากรรับเชิญจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

คำว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวคนทั่วไป แต่หากมองรอบตัวแล้วจะพบว่า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เราหยิบจับใช้งานจนคุ้นชิน ล้วนแล้วแต่มีรากฐานวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งสิ้น เพราะผลิตภัณฑ์วัตถุดิบจากปิโตรเคมีเป็นต้นน้ำสำคัญในการป้อนวัตถุดิบตั้งต้น ไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ

เพื่อเรียนรู้เรื่องการปรับตัวของภาคธุรกิจปิโตรเคมีสู่โลกยุคใหม่ ที่พร้อมเปลี่ยนถ่ายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังจะมาถึง เดชาธร ฐิสิฐสกร Marketing Strategy and Data Science บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จึงมาพร้อมหัวข้อA Transition of the Global Petrochemical Industryโดยเผยว่า ปี 2564 ประเทศไทยใช้พลาสติกสูงถึง 4.9 ล้านตัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และงานก่อสร้าง ใช้รวมกันสูงถึง 80% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างเด่นชัด

แม้ภาพรวมความต้องการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเพิ่มสูงขึ้น ทว่าเศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้และปีหน้า มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากที่เคยประเมินไว้เมื่อต้นปี เนื่องจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูง และนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจเริ่มเผชิญความเสี่ยงกับการเกิดภาวะชะลอตัว แต่เงินเฟ้อยังสูง หรือstagflationมากขึ้น ในกรณีเลวร้าย เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป ก็มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือ ต้นปี 2567

เดชาธรบอกด้วยว่า ความน่าสนใจ คือ โลกปิโตรเคมีในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องด้วยความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด19 ได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยหลักๆ 2 เรื่องด้วยกัน

ประการแรก คือ มิติด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด จึงอาจหมดในเร็ววัน หากยังบริโภคทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเราสามารถนำขยะพลาสติกกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ในลักษณะพลาสติกประเภทแปลงสภาพเป็นวัสดุนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle Plastic Resin) ก็จะช่วยให้พลาสติกที่เคยเป็นขยะได้ชุบชีวิตกลับมามีประโยชน์ ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้ใหม่อีกครั้ง

ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์เครื่องสำอาง ยานยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่เติบโตขณะนี้ สอดคล้องกับ Global Environmental Roadmap ที่จะเข้าสู่สังคมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (NetZero Emissions) ภายในปี 2593 เรื่องการนำวัสดุรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ในภาคอุตสาหกรรม โดยมีการคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกรีไซเคิลว่า จะโตขึ้นเฉลี่ยถึง 9% ในปี 2583

ผนวกกับประการที่สอง การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (SCurve World Future Revolution) ที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง AI, IOT กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของเทคโนโลยี ที่นำไปสู่การดิสรัปต์ภาคธุรกิจเดิม รวมถึงทิศทางการขยายของตัวเมือง ซึ่งล้วนส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมแห่งอนาคตไปด้วยเช่นกัน ซึ่งอุตสาหกรรมประเภทดังกล่าว ต่างเกี่ยวพันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นส่วนประกอบด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อทั้งสองมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม SCurve กลายเป็นทิศทางสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสู่การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่โลกใบใหม่ ที่กำลังมาถึงเร็วๆ นี้ ก็พร้อมหมุนให้อัตราความต้องการในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสูงขึ้นในอนาคตMarketing Strategy and Data Science ไออาร์พีซี สรุป

ด้าน ธีรัช ศฤงคารินทร์ Marketing Analyst บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หยิบยกเรื่อง ทิศทางการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน มาพูดถึงในหัวข้อImpacts and Opportunities for Polyethylene Businessโดยกล่าวว่า หลังเข้าสู่ยุคนิว นอร์มัล โลกกลับมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอีกครั้ง

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตโพลีเอทิลีน/โพลีโพรพิลีน รวมถึงเจ้าของแบรนด์ ต่างต้องปรับตัวเข้าหาโลกผ่านการลดขยะจากขั้นตอนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ลดการใช้พลาสติกที่ผลิตจากฟอสซิล ผลักดันการใช้พลาสติกที่มาจากรีไซเคิลมากขึ้น

รวมถึงเน้นการผลิตบรรจุภัณฑ์ ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งประโยชน์ของการรีไซเคิลจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ และยังสามารถช่วยลดปริมาณขยะสู่การฝังกลบขยะ นำไปสู่ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรใต้ชั้นดินได้ดีขึ้น และคาดว่า ทิศทางตลาดในอนาคต จะมีความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 32 ล้านตัน ในปี 2569

ต่อด้วย นิรมล วุฒิพฤกษ์ Manager, Business Planning and Risk Management บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด ในหัวข้อ Impacts and Opportunities for Polypropylene Businessที่ขยายความให้เห็นว่า พลาสติกประเภทโพลีโพรพิลีนนั้นมีอยู่รอบตัว ทั้งผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ถุงกระสอบ ขวดที่พบเห็นในห้องครัว กล่องอาหารตามร้านสะดวกซื้อ ข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้แต่หน้ากากอนามัย

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่า พลาสติกมีประโยชน์มากมาย พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย หากผู้ใช้พลาสติกรู้จักวิธีจัดการให้เหมาะสม ทุกคนก็สามารถมีส่วนร่วมในหนทางแห่งความยั่งยืนได้ เพียงแค่รู้จักรียูส นำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำ ช่วยกันแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลต่อไป

นิรมลเผยว่า ปีนี้ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ ทั้งจากสถานการณ์โควิด19 ที่มาเป็นระลอก ทำให้จีนซึ่งเป็นประเทศแม่ในการผลิตต้องปิดประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งทั่วโลก ตลอดจนปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น

จากโดมิโน่ตัวแรกที่ล้มลง ได้เอนเอียงกระทบปัญหาตัวถัดๆ ไปอย่างมหันต์ ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับพอร์ตการผลิตและพอร์ตการขาย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาด ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การค้นคว้าต้องมีอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันต่อสถานการณ์ บริษัทต้องไม่อยู่กับที่ แต่ต้องพร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็ว จากปลาใหญ่กินปลาเล็ก สู่ปลาเร็วกินปลาช้า หาโอกาสทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และท้ายที่สุดต้องหาทางอยู่ร่วมกับโรคระบาดอีกมากมาย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้ นิรมล ย้ำ

ปิดท้ายด้วย สิรวิชญ์ สมรัตนกุล นักวิเคราะห์การพาณิชย์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กับหัวข้อImpacts and Opportunities for Aromatics Businessที่ชี้ให้เห็นเทรนด์การใช้พลังงาน ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ส่งผลให้แนวโน้มสัดส่วนในภาคการผลิต ลดการผลิตเชื้อเพลิงหรือน้ำมันต่างๆ และหันมาผลิตสัดส่วนสารเคมีเพิ่มขึ้น ประกอบกับการใช้วัสดุชีวภาพ (biomaterials) ที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิล ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มใช้วัสดุชีวภาพจนอาจสูงกว่า 90% เลยทีเดียว

สิรวิชญ์ บอกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุน และความสามารถในการผลิต ที่ยังคงผลิตได้ในปริมาณน้อย นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก อย่างการรณรงค์ห้ามใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันการใช้พลาสติกในกลุ่มบรรจุภัณฑ์

ในทางกลับกัน กลุ่มพลาสติกที่ใช้ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงเติบโตตามทิศทางของธุรกิจ ที่ต้องใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบ อย่างอุปกรณ์สมาร์ทโฮม หรือสมาร์ท ดีไวซ์ ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปเรื่อยๆ ส่งผลต่ออุปสงค์การใช้พลาสติก ที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต นักวิเคราะห์การพาณิชย์ ไทยออยล์ คาดการณ์

ทั้งหมดเป็นความเห็นและข้อแนะนำแนวทางการปรับตัว และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของพลาสติก หลังสถานการณ์โควิด19 จากผู้เชี่ยวชาญกลุ่ม ปตท. ซึ่งหากภาคธุรกิจต่างๆ ได้นำไปปรับใช้ ก็จะเป็นโอกาสที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน