“เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” คือพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562สะท้อนถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงงาน เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก ที่ถือเป็นงานสำคัญและมีประโยชน์ช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี

ภายใต้พระราชปณิธานดังกล่าว กรมชลประทาน นับเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำหรือการชลประทานเสมอมา อันเป็นการสนองพระราชดำริตั้งแต่รัชกาลก่อนสืบมาถึงรัชกาลปัจจุบันผ่านการดำเนินงานตามแนวพระราชปณิธาน 3 ด้าน ประกอบด้วย

ด้านการสืบสาน ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีคณะกรรมการในการติดตาม ขับเคลื่อน และเร่งรัด รวมทั้งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวควบคู่กันไป

คณะกรรมการชุดดังกล่าว เป็นการบูรณาการระหว่างองคมนตรี สำนักงาน กปร. กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อเป็นการสืบสานให้โครงการฯ เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

ด้านการรักษา กรมชลประทาน มีการบำรุงซ่อมแซมอาคารต่าง ๆ อันเกิดจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งถือเป็นโครงการแรกที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2506 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ การดำเนินงานด้านรักษา เป็นการบำรุงรักษาโครงการต่าง ๆ ที่เสื่อมโทรมตามกาลเวลาให้อยู่ในสภาพใช้การได้อยู่ตลอดเวลา และสร้างประโยชน์แก่ราษฎรสูงสุด ซึ่งโครงการฯ ได้สร้างประโยชน์แก่เกษตรกรและราษฎรมากกว่า 6 แสนครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่กว่า 5 ล้านไร่

ด้านการต่อยอด กรมชลประทาน มีการดำเนินงานส่งเสริมและขยายผลการพัฒนา ทั้งเรื่ององค์ความรู้และหลักวิชาการที่เหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงสังคมยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ราษฎรและเกษตรกร ทั้งยังเป็นการดำเนินรอยตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสอดคล้องกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร

สำหรับตัวอย่างแนวทางการดำเนินงาน เพื่อการต่อยอดพระราชดำริตามพระราชปณิธานดังกล่าวประกอบด้วย การนำองค์ความรู้จากการศึกษา วิจัย ของศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง นำไปส่งเสริมขยายผลสู่เกษตรกรให้มีความแข็งแรงเพียงพอต่อการดำรงชีวิตตามสภาพแวดล้อม และที่สำคัญประชาชนและเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้

ทั้งนี้ ศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดเพชรบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ จัดตั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้งสิ้น 200 โครงการ โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 131 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 19 โครงการ และระหว่างการเตรียมพร้อม 50 โครงการ โดยมีตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่กรมชลประทาน นำมาสืบสาน รักษา ต่อยอดสนองพระราชปณิธาน ดังนี้

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นโครงการฯที่พระราชทานให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค ซึ่งประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำบ้านไทยประจัน, อ่างเก็บน้ำบ้านพุกรูด, อ่างเก็บน้ำเขาหัวแดง, อ่างเก็บน้ำหินสีตอนบน,อ่างเก็บน้ำห้วยพุกรูด และอ่างเก็บน้ำบ้านโป่งพรหม รวมทั้งสิ้น 6 แห่ง โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 แห่ง คงเหลืออ่างเก็บน้ำบ้านโปร่งพรหม ที่อยู่ขั้นการเตรียมดำเนินการก่อสร้าง

โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนครเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน ก.ป.ร. เร่งดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำหลังชำรุดจากพายุโซนร้อน ‘ตาลัส’ และ ‘เซินกา’ ในปี 2560 โดยในปีเดียวกัน กรมชลประทาน ใช้เวลา 23 วัน ดำเนินการซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ตามพระราชกระแสรับสั่ง จนสามารถกลับมาใช้ได้ปกติ

ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ สามารถกักเก็บน้ำที่ระดับ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิม2.4 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งมีการปลูกหญ้าแฝกรอบอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นฯ เพื่อป้องกันการพังทลายของดินและป้องกันตะกอนดินไหลลงอ่าง

อนึ่ง การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน มีขั้นตอนการก่อสร้างที่ครอบคลุมทั้งการศึกษา สำรวจ และออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ เพื่อให้การใช้พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุด และศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนการดำเนินการก่อสร้าง ทั้งยังทำการสำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาออกแบบโครงการฯ พร้อมทั้งให้ราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการฯ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ

ที่สำคัญ การดำเนินโครงการฯ ทั้งหมด ยังสอดคล้องกับพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมชนกนาถ เพื่อมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน