ปัญหาการโจมตีและความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ คือหนึ่งในภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและการปกป้องข้อมูล ที่เรามักได้ยินข่าวอยู่เนืองๆ ว่าเหล่าแฮกเกอร์เข้าไปล้วงข้อมูลการใช้งาน และข้อมูลส่วนตัวผ่านบริการดิจิทัลต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องหาทางรับมือ และวิธีที่จะลดความเสี่ยงภัยคุกคามทางไซเบอร์

เมื่อทุกวันนี้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ล้วนเกี่ยวพันกับโลกดิจิทัล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส (AIS) ผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัลของไทย ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาสนับสนุนการสร้างประโยชน์ สร้างความปลอดภัย และความมั่นคงแก่สังคมอย่างต่อเนื่อง จึงจับมือกับ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดตัว อุ่นใจไซเบอร์ หลักสูตรการเรียนรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ครั้งแรกของไทย

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ นับเป็นการยกระดับการเรียนการสอนยุคดิจิทัล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ ตั้งแต่เด็กและเยาวชนจนถึงประชาชนทั่วไป

อุ่นใจไซเบอร์ กับ 4 ทักษะเอาตัวรอดบนโลกออนไลน์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เผยถึงเป้าหมายการพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ว่า เอไอเอสไม่เพียงมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย เพื่อตอบโจทย์การใช้งานเท่านั้น หากยังตระหนักถึงการสร้างสังคมดิจิทัลให้ดีขึ้นด้วย ดังนั้นจึงเปิดตัว ‘โครงการอุ่นใจไซเบอร์’ ขึ้นในปี 2562

“โครงการนี้เป็นแกนกลาง ช่วยสร้างเครือข่าย ชวนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้สังคมดิจิทัลไทย ทั้งมุมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือ เพื่อช่วยให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และมุมการสร้างภูมิปัญญาและองค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน พร้อมอยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์” ซีอีโอ เอไอเอส เผย

ล่าสุด เอไอเอสเดินหน้าตามเจตนารมณ์ยกระดับสังคมดิจิทัลไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการร่วมมือกับ 3 กระทรวงหลักของประเทศ สร้างสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลในชื่อ หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งกรมสุขภาพจิตเป็นผู้พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดีไซน์ออกมาเป็นภาพแอนิเมชัน และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ช่วยรับรองให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตรด้านการศึกษา ที่พร้อมให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทันที

“ส่วนการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ทางกระทรวงจะเป็นผู้นำหลักสูตรที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ ส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศ เช่นเดียวกับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ” นายสมชัยขยายความ

หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ แบ่งออกเป็น 4 Professional Skill Module (4P4ป) ครอบคลุมทักษะดิจิทัล คือ

  1. Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  2. Personality แนะนำการปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
  3. Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
  4. Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม

เริ่มต้นทดสอบหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ รูปแบบเสมือนจริงในแซนด์บ๊อกซ์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 โดยมีครูผู้สอนและนักเรียนที่เข้าร่วมและสอบผ่านไปแล้วกว่า 160,000 คน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส อธิบายรูปแบบการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปใช้ ว่า เป็นหลักสูตรที่ครูผู้สอนสามารถเรียนรู้ได้เอง และยังสามารถนำไปสอนนักเรียนได้บนแพลตฟอร์มดิจิทัล LearnDi และแอปพลิเคชัน อุ่นใจ CYBER ด้วยการออกแบบเนื้อหาที่อ้างอิงมาตรฐานตามกรอบการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล อย่าง DQ Framework (Digital Intelligence Quotient) และปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

“เราตั้งเป้าส่งต่อไปยังสถานศึกษากว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย พร้อมเดินหน้าชวนคนไทยทุกเพศทุกวัย เข้าร่วมเรียนรู้วัดระดับทักษะดิจิทัลในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ในฐานะพลเมืองดิจิทัล”

ผสาน 3 กระทรวง 1 สถาบันการศึกษา ต่อยอดภารกิจนำความปลอดภัยไซเบอร์สู่ทุกคน

ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของภาคการศึกษาไทย ที่ช่วยให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี ตามภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษา

ปัจจุบัน หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ผ่านการรับรองมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ให้เป็นหลักสูตรการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาสายงานสอน สังกัด สพฐ. โดยสามารถนำผลการนับชั่วโมงการพัฒนา เพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยาฐานะ ตามหลัก ก.ค.ศ. กำหนดเรียบร้อยแล้ว

“ทุกวันนี้มีศึกษานิเทศก์ ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา จากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เข้ามามีส่วนร่วมนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนนักเรียนทั่วประเทศ ทั้งสังกัด สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาภาคเอกชน (ส.ช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (ก.ศ.น.)

“เราพร้อมเดินหน้าขยายความครอบคลุมการเรียนการสอนไปให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้บุคลากรทางการศึกษา และเยาวชนไทยมีความรู้ทักษะดิจิทัลที่เท่าทันภัยไซเบอร์ ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นสูงสุด” รมว.ศึกษาธิการย้ำ

ส่วน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การทำงานร่วมกับเอไอเอส เพื่อพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ถือเป็นอีกหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมสุขภาพจิต ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรหลักด้านการดูแลสุขภาพจิตของคนไทย ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังเป็นการสะท้อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ทำหน้าที่จัดทำเนื้อหาที่เหมาะสมกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย ในลักษณะการกระตุ้นเตือน แนะนำ ให้สามารถใช้ชีวิตรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในยุคดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ นับได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจน

ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะผู้ร่วมพัฒนาสื่อการเรียนการสอนหลักสูตรดิจิทัลอุ่นใจไซเบอร์ กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ด้วยเช่นกันว่า เกิดจากความตั้งใจในการทำงานร่วมกันของคณาจารย์ บุคลากร ด้วยการใช้ศักยภาพของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้

“เราพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้อยู่ในสื่อการสอนรูปแบบดิจิทัล รวมถึงจัดทำแบบทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลว่า ผู้เรียนมีทักษะและเข้าใจหน้าที่พลเมืองดิจิทัลมากเพียงพอหรือไม่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้จะช่วยให้ทุกคนที่ปรับตัวในการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ และใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย”

ขณะเดียวกัน ดร.ทนงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำถึงบทบาทการมีส่วนร่วมพัฒนาและขยายหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์สู่โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น ว่า การนำหลักสูตรนี้ไปยังโรงเรียนต่างๆ ภายใต้สังกัดนอกจากเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย ความมั่นคงภายใน และบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ตามแนวทางการขับเคลื่อนของกระทรวงมหาดไทยแล้ว

ความร่วมมือกับเอไอเอส ขยายหลักสูตรไปยังโรงเรียนต่างๆ ยังเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นต่อการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการทำให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์อย่างมีความสุข ปลอดภัย มีทักษะรับมือการใช้งานอินเทอร์เน็ตยุคดิจิทัลให้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราจึงใช้โอกาสอันดีนี้ สนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียนจากสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกว่า 700,000 คน ได้เรียนรู้ในหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ซึ่งเชื่อว่าก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้ชีวิตอย่างแน่นอน” รมช.มหาดไทย ปิดท้าย

ปัจจุบัน ‘หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์’ เริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในระบบอย่างเป็นทางการแล้ว และยังเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่ผู้ใช้งานโลกออนไลน์ทุกกลุ่มและทุกวัย สามารถเรียนรู้และสร้างทักษะดิจิทัล เพื่อใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ได้อย่างอุ่นใจ

ผู้สนใจสามารถเรียนรู้และสร้างทักษะดิจิทัลได้เลยที่ https://learndiaunjaicyber.ais.co.th/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน