หากนึกถึงคำว่า ‘ศิลปะ’ สิ่งแรกที่แวบเข้ามาในหัวของทุกคนอาจเป็นการวาดรูป ระบายสี แต่แท้จริงแล้วขอบเขตของศิลปะกว้างกว่านั้นมาก หลายคนให้คำนิยามศิลปะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ที่ได้พบ และยังมีบางคนที่เลือกเดินบนเส้นทางศิลปิน แม้จะไม่ได้มีทักษะในการวาดภาพหรือระบายสีที่ดีเลิศก็ตาม

วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปิน นักเขียน และนักทำภาพประกอบชื่อดังระดับประเทศ ที่จะมาเผยเรื่องราวการเดินทางในโลกศิลปะคอลลาจ ให้ทุกคนได้เรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมกัน

‘ศิลปะ’ ความสวยงามที่ออกแบบได้

นักรบ ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยการเล่าถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปินว่า เขามีความสนใจเกี่ยวกับศิลปะ การออกแบบมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งสมัยมหาวิทยาลัยได้เข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหนังสือต่างๆ ทำให้เห็นว่านอกจากความสวยงามของเนื้อหาที่อยู่ด้านใน ยังเห็นถึงความสวยงามของการออกแบบ ภาพประกอบในหนังสือ จึงค่อยๆ ซึมซับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่นั้นมา

จากความชอบนำพานักรบสู่โลกแห่งการทำงานจริง เริ่มด้วยการก้าวเท้าสู่อาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ ก่อนจะทำงานที่เฉพาะทางขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การทำภาพประกอบหนังสือ หน้าปกหนังสือ และพัฒนาขึ้นมาเป็นงานศิลปะต่างๆ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า คอลลาจ หรือ ศิลปะการตัดแปะ ในการสร้างสรรค์ผลงาน

‘คอลลาจ’ ศิลปะแห่งการตัดแปะ








Advertisement

นักรบอธิบายว่า ‘คอลลาจ’ คือ ศิลปะตัดปะ หรือตัดแปะ เป็นวิธีการทำงานที่อาจจะแปลกและแตกต่างไปจากงานศิลปะที่เราเคยเห็น ที่เริ่มต้นจากการวาด การระบายสี แต่คอลลาจคือการนำวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพในแมกาซีน สิ่งพิมพ์ต่างๆ หยิบจับมาดัดแปลง สร้างเป็นภาพใหม่ตามความคิดและตามจินตนาการของเรา สรุปง่ายๆ คือการที่เรานำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างความหมายใหม่ให้กับมันนั่นเอง

“ด้วยความที่งานศิลปะอาจจะไกลตัวสำหรับหลายๆ คน เพราะเขาไม่มีทักษะในการวาดภาพหรือระบายสี แต่คอลลาจเป็นสิ่งหนึ่งที่หลายคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพราะแค่มีอุปกรณ์ หรือจริงๆ ไม่มีอุปกรณ์อะไรก็ได้ อาจจะใช้มือฉีก แปะในสิ่งพิมพ์ที่เรามีอยู่แล้ว

“เสน่ห์ของมันคือทุกคนสามารถทำได้ สามารถหยิบจับความหมายดั้งเดิม หรือรูปภาพดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วในที่ต่างๆ มาสร้างเรื่องราวใหม่ให้กับมันได้ โดยการกระทำของเราเอง”

เอกลักษณ์งานสไตล์ ‘นักรบ’

เมื่อถามถึงสไตล์งานที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนักรบ เขาเล่าว่า เอกลักษ์งานของเขาคือการนำวัสดุต่างๆ ที่เป็นวัตถุ ภาพ โดยเฉพาะองค์ประกอบที่มีความ local มีความไทย จับมาใส่อยู่ในบริบทอื่นๆ ที่น่าสนใจ อย่างเขาที่สนใจเรื่องทางประวัติศาสตร์ ก็จะหยิบรูปบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยไปอยู่ในอาณาบริเวณที่แตกต่างออกไป เช่น จับไปอยู่ในโลกศิลปะตะวันตก

“คอลลาจในแง่ของเราคือการที่หยิบจับภาพ สิ่งต่างๆ ไปอยู่ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นกรอบภาพสังคมหรือคำถามประเด็นต่างๆ ในการดำรงอยู่ของความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองโลก”

นักรบเล่าต่อว่า ด้วยความที่ตนสนใจเรื่องของศิลปะ การออกแบบ จึงพยายามที่จะหาวิธีการสื่อสารของตัวเอง แต่ก็ค่อนข้างยาก เพราะเด็กหลายคนล้วนถูกตีกรอบว่างานศิลปะจะเกิดขึ้นจากทักษะการวาด การระบายสีเท่านั้น คอลลาจจึงเป็นวิธีการที่ทำให้เขาได้ทำงานในรูปแบบของตัวเอง

“ดีใจที่มีคนเห็นผลงานและยอมรับว่าเป็นงานศิลปะ เป็นวิธีถ่ายทอดเรื่องราววิธีหนึ่ง ผลงานของเราก็ได้ไปปรากฏในหลายที่ ทำให้เราสนุกที่จะทดลองไปกับมัน ทดลองทำงานตัดปะที่ไม่ได้อยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่กำลังไปสู่ในรูปแบบอื่นๆ จาก 2 มิติ กลายเป็น 3 มิติ จากงานที่มองด้วยสายตาอาจเป็นงานที่สัมผัสได้มากขึ้น มีองค์ประกอบต่างๆ มาผสมมากขึ้น ทำให้มันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว ทำให้มันเป็นศิลปะการจัดวาง แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเริ่มต้นจากมิติ 2 มิติ ในกระดาษ ที่เราก็ใช้อุปกรณ์ง่ายๆ และเบสิกมากๆ อย่างกรรไกร กาว และวัสดุต่างๆ ที่เก็บสะสมไว้” นักรบเล่า

สำหรับผลงานที่ประทับใจที่สุด นักรบบอกว่า น่าจะเป็นผลงานแรก อย่างงานภาพประกอบในนิตยสาร อาจจะเป็นงานชิ้นเล็กๆ คนไม่ได้เห็นมาก แต่ก็มีคุณค่าสำหรับเขามากในการที่ได้เห็นงานของตัวเองไปอยู่ในนิตยสาร เพราะเติบโตมากับวัฒนธรรมการอ่านนิตยสารและหนังสือที่มีภาพประกอบ แม้ตอนนี้นิตยสารจะซาๆ ไปแล้ว

“วันหนึ่งที่เราก็ไม่แน่ใจว่าคอลลาจมันเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจและตัดสินว่ามันเป็นศิลปะหรือเปล่า เพราะมันหยิบยืมคุณค่า หยิบยืมความหมาย หยิบยืมทักษะ หยิบยืมสิ่งต่างๆ มาจากสิ่งที่คนเคยทำขึ้นมาอยู่แล้ว แต่พอเราได้โอกาสที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ออกไปในที่ต่างๆ ก็รู้สึกดีใจ”

บทต่อไปของศิลปินคอลลาจระดับประเทศ

แม้วันนี้จะค้นหาตัวตนและได้ทำในสิ่งที่รัก แต่ไม่มีคำว่าหยุดพยายาม เมื่อถามถึงก้าวต่อไปของ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินคอลลาจชื่อดังระดับประเทศ เขาตอบด้วยแววตาที่ยังคงสนุกสนานและเลือกที่จะเดินต่อไปบนเส้นทางศิลปินสายนี้

“เราก็อาจจะทำหลายอย่างที่พยายามขยายมิติของการตัดปะออกไป ซึ่งมันก็อาจจะไม่ใช่แค่ภาพแล้ว อาจจะเป็นเอาข้อความ ชิ้นส่วนต่างๆ ของประวัติศาสตร์มาเล่าเรื่องในรูปแบบคอลลาจ อาจไม่ได้เป็นภาพมาชนภาพ แต่เป็นภาพมาชนสื่ออื่นๆ หรือทำให้มันเป็นภาพเคลื่อนไหว เป็นศิลปะการจัดวาง พยายามขยายมิติของมันไปในชุมชนต่างๆ ที่อาจจะลึกซึ้งมากขึ้น ดูมันในรูปแบบต่างๆ นอกจากในเรื่องการดีไซน์ การออกแบบ อาจจะโยงไปสู่ความเป็นศิลปะร่วมสมัยมากขึ้น”

“หาตัวตนและวิธีการของเราให้เจอ”

สำหรับใครที่อยากเป็นศิลปิน นักรบฝากไว้ว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยี การเปิดใจ การเปิดกว้าง การมองเห็นศิลปะอยู่ในความหมายที่กว้างขวางมากขึ้น มิติที่ซับซ้อนและโอบรับคนที่หลากหลายมากขึ้น สมัยก่อนเมื่อพูดถึงศิลปะเรานึกถึงแค่การระบายสีไม้ สีชอล์ก สีน้ำ เท่านั้น แต่ปัจจุบันนิยามสิ่งเหล่านี้พร่าเลือนไปเรื่อยๆ

“ศิลปะอยู่ในชีวิตของผู้คนมากขึ้น และมีวิธีการที่หลากหลายทำให้ทุกคนเข้าถึงศิลปะได้ เทคโนโลยีต่างๆ ก็เอื้อในการสร้างสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเทคนิค อุปกรณ์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต และการเรียนรู้นอกห้องเรียน

“ความท้าทายของการที่จะทำศิลปะและการเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ทำงานสร้างสรรค์ คือการหาตัวตนของเราให้เจอและหาวิธีการของเราให้เจอว่า เราถนัดกับสิ่งไหน วิธีการสื่อสารแบบไหน เครื่องมืออุปกรณ์แบบไหนที่จะถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกของเราได้มากที่สุด คำแนะนำของเราคือ หาสิ่งนั้นให้เจอ”

‘ปะติดปะต่องานศิลป์ เชื่อมโลกคอลลาจอาร์ต’

เมื่อศิลปะไม่ใช่แค่การวาดรูป ‘Happy Journey with BEM’ ผลงานความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เดินหน้ามอบความสุขตอบแทนผู้ใช้บริการ จัดเวิร์กชอปงานศิลปะสุดเอกซ์คลูซิฟ ร่วมกับศิลปินชื่อดัง ตอบแทนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ฟรี! ตลอดปี 2566

เวิร์กชอปประจำเดือนสิงหาคมนี้ ชวนเด็กสายอาร์ตจากรั้วศิลปากรและคู่แม่-ลูก ร่วมสร้างสรรค์ผลงานคอลลาจอาร์ตของตัวเอง ในกิจกรรมปะติดปะต่องานศิลป์ เชื่อมโลกคอลลาจอาร์ต’ กับ ‘นักรบ มูลมานัส’ ศิลปินคอลลาจชื่อดังระดับประเทศ ณ METRO ART สถานีพหลโยธิน ในวันที่ 17 และ 24 สิงหาคม 2566

“เราเตรียมมาแชร์ประสบการณ์ในการทำงานของเรา เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการทำงานให้ฟัง พยายามแนะนำให้ทุกคนเข้าใจว่าคอลลาจคืออะไร คนที่มาเข้าร่วมก็จะได้ร่วมทำงานศิลปะกับเรา รวมถึงได้รับโอกาสในการแสดงผลงานในพื้นที่เมโทร อาร์ต สถานีพหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจ ทำให้ศิลปะใกล้ชิดกับชีวิตพวกเรามากขึ้น

เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ลองหานิยามใหม่ๆ ได้ลงมือทำจริง ต่อยอดเป็นงานอดิเรก หรืออาชีพ อยากให้เวิร์กชอปครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เราจะได้ลองทำ อย่างน้อยได้ลองทำสิ่งใหม่ที่คุณอาจจะไม่ได้คุ้นเคย หรือใครที่คุ้นเคยกับการทำงานคอลลาจอยู่แล้ว ก็อาจทำให้คุณได้ฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม

“เวิร์กชอปนี้เป็นของทุกคน ไม่จำเป็นต้องเคยทำงานศิลปะหรือมีทักษะมาอยู่แล้ว เพราะศิลปะการตัดปะของเรามีพื้นที่ให้กับทุกคนได้มาลอง มันอาจจะทำให้คุณใกล้ชิดกับการทำงานศิลปะมากขึ้น” นักรบเล่าถึงความพิเศษของกิจกรรม พร้อมเอ่ยเชิญชวน

ร่วมเดินทางท่องโลกศิลป์ไปพร้อมกัน ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ‘Happy Journey with BEM 2023’ Art Journey ‘ปะติดปะต่องานศิลป์ เชื่อมโลกคอลลาจอาร์ต’ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ เฟซบุ๊ก BEM Bangkok Expressway and Metro

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน