“วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ริมถนน แล้วอยู่ๆ มาสัมผัสกับศิลปะได้ยังไง ทั้งๆ ที่ควรจะมุ่งหน้าทำมาหากินไป ไม่ต้องสนใจอะไรพวกนี้ แต่เราก็รู้สึกว่า ความเป็นคนมันมีมากกว่านั้น มันมีมากกว่าการหาเงินอย่างเดียว”

คือบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งของ เอก – พิชัย แก้ววิชิต ที่แสดงถึงความหลงใหลในศิลปะและการไม่ทรยศต่อตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ทำให้เขาเปลี่ยนบทบาทจากวินมอเตอร์ไซค์หาเช้ากินค่ำ สู่ช่างภาพแนวสตรีทชื่อดัง

วันนี้เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับพิชัย ถึงมุมมองและความคิดที่ทำให้เขากล้าเลือกทำสิ่งที่รัก ขอเพียงแค่ได้เดินบนเส้นทางที่จะทำให้เขาขยับใกล้ชิดกับศิลปะมากกว่าเดิม พร้อมเตรียมพบกับบทบาทล่าสุดในการเป็นศิลปินหลักนำทีมร่วมกิจกรรม ‘Happy Journey with BEM 2023 : ชวนถ่ายภาพ เล่าเรื่องรอบราง’ กิจกรรมประกวดถ่ายภาพแห่งปี ชิงรางวัลมูลค่ากว่า 80,000 บาท ณ เมโทร อาร์ต MRT สถานีพหลโยธิน

แนะนำตัว

สวัสดีครับ เอก พิชัย แก้ววิชิต เจ้าของอินสตาแกรม phichaikeawvichit ตอนนี้มีผู้ติดตามกว่า 8 หมื่นคน ปัจจุบันถ่ายภาพ และเขียนหนังสืออยู่ที่มติชนสุดสัปดาห์ครับ

เส้นทางชีวิตที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็น ‘ช่างภาพ’

ที่มาที่ไปคือก่อนหน้านี้ผมขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับมา 20 กว่าปี แต่ตัวตนจริงๆ เป็นคนที่ชอบศิลปะ ซึ่งคิดมาตลอดว่าคนจะเป็นศิลปินได้ต้องเรียน เลยเก็บความรู้สึกชอบเอาไว้ จนเริ่มรู้สึกว่าการหาเงินอย่างเดียวมันแค่ทำตามหน้าที่ เพื่อเลี้ยงปากท้อง แต่ความเป็นตัวตนยังไม่ชัดเจนว่าจริงๆ เราชอบอะไร และอยากทำอะไร ก็มีกำแพงทางความคิดประมาณนึง








Advertisement

จนวันหนึ่งเริ่มรู้สึกอยากทำงานศิลปะสักอย่าง แต่เราเห็นว่าคนที่ทำงานศิลปะต้องวาดรูป และอยู่ในวงการศิลปะ ซึ่งเราทำอาชีพรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ น่าจะคนละโลกกัน เลยรู้สึกว่าถ้าเราวาดรูปไม่เป็นแล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง จนมีความคิดผุดขึ้นมาว่า ‘ถ่ายรูปสิ’ แต่ปัญหาคือแล้วเราจะไปถ่ายรูปอะไร ในเมื่อเรายังหาเช้ากินค่ำอยู่แบบนี้ ออกจากบ้านแต่เช้ากลับบ้านก็มืดแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปถ่ายรูป

ตอนแรกเหมือนจะหยุดความคิดนี้ไว้ แต่ก็มีความคิดหนึ่งขึ้นมาว่า การถ่ายภาพมันเป็นศิลปะอย่างนึง เลยคิดต่อว่าแล้วศิลปะมาจากอะไร จากนั้นได้มองไปรอบๆ ตัว จนพบว่า จริงๆ แล้วศิลปะก็มาจากเส้น รูปร่าง รูปทรง แสง เงา เหมือนตอนเราเรียนประถม-มัธยม จึงเริ่มมองสิ่งรอบตัวเป็นองค์ประกอบศิลปะ จากนั้นทำการถ่ายเส้น แสงเงาไปเรื่อยเปื่อย

“ไม่ได้คิดว่าจะสวยหรือไม่สวย ดีหรือไม่ดี ตอนนั้นคิดแค่ว่าเราเห็นมุมมองแบบนี้แล้วเราถ่ายออกมา เรารู้สึกว่ามีความสุขกับมันโดยที่ไม่ต้องหาเหตุผลว่ามันจะดีแค่ไหน แค่ทำแล้วรู้สึกว่าเราสบายใจก็ทำไปเลย ตอนนั้นก็ทำให้เรารู้สึกดีและใกล้ชิดกับศิลปะมากขึ้น”

เสน่ห์ของการถ่ายภาพ แตกต่างจากศิลปะรูปแบบอื่นอย่างไร

อันดับแรกคือ การถ่ายภาพเป็นมุมมองที่สามารถถ่ายทอดออกมาได้เลย แค่คุณมีอุปกรณ์ มีมุมมอง แล้วกดชัตเตอร์ เสน่ห์อีกอย่างคือเราต้องออกเดินทาง เมื่อออกจากบ้านไปถ่ายรูปนั่นนี่ มองสายไฟ มองมุมตึก มองพื้นถนน เป็นองค์ประกอบศิลปะ มันทำให้รู้สึกว่า จริงๆ แล้วก็ยังมีช่องทางที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนความคิดและไปสัมผัสกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวในมุมมองที่แตกต่างออกไป

สไตล์ภาพของคุณพิชัย

ผมคิดว่ามันเป็นแนวความเรียบง่ายมากกว่า แล้วก็เป็นมุมมองที่มีอิสระอยู่ในตัวเอง ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าการถ่ายภาพแนวนี้จะต้องมีเทคนิค 1 2 3 4 ไม่ใช่เลย สิ่งสำคัญที่สุดในการถ่ายภาพ คือความรู้สึกของตัวเอง ว่าถ้าเรามองสิ่งรอบๆ ตัวเป็นศิลปะแล้ว เราจะเห็นอะไร และถ่ายทอดมันอย่างไร

เส้นทางที่ผ่านมาในบทบาท ‘ช่างภาพ’

หลังถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก ได้มี exhibition ครั้งแรกในชีวิตที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี แล้วก็จัดมาเรื่อยๆ กระทั่งได้มาร่วมงานกับทางมติชน ซึ่งคนเริ่มรู้จักผมจากการแสดงงานครั้งแรก ก็จะมีสื่อต่างๆ มาสัมภาษณ์ว่า มันเกิดความย้อนแย้งอะไรกับความเป็นคนคนหนึ่งที่ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ แบบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ริมถนน แล้วอยู่ๆ มามีมุมมองแบบนี้ มาสัมผัสกับศิลปะได้ยังไง ทั้งๆ ที่ควรจะมุ่งหน้าทำมาหากินไปเรื่อยๆ ไม่ต้องสนใจอะไรพวกนี้ แต่เราก็รู้สึกว่า ความเป็นคนมันมีมากกว่านั้น มันมีมากกว่าการหาเงินอย่างเดียว แต่ท้ายที่สุดแล้วผมว่าศิลปะไม่ควรมีกำแพง เพราะเมื่อเรามีความเป็นคนเมื่อไหร่ ศิลปะก็อยู่ในตัวเราอยู่แล้วตั้งแต่แรก

บทบาท ณ วันนี้และในอนาคต

คงจะทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ให้ถูกต้องที่สุด แล้วก็ซื่อสัตย์กับตัวเอง ว่าจริงๆ แล้วเรามีความสุขกับอะไร วันแรกเรามีความรู้สึกอะไรกับมัน ก็พยายามจะนึกถึงไว้ ซึ่งจุดหมายปลายทางจริงๆ แล้ว ก็คือวันแรกที่เราได้ค้นพบว่าเราชอบศิลปะ แล้วเราได้ลงมือทำมัน

กิจกรรม ‘Happy Journey with BEM 2023 : ชวนถ่ายภาพ เล่าเรื่องรอบราง’

ในกิจกรรมครั้งนี้ทุกคนจะได้เปิดมุมมอง และเห็นภาพของตัวเองชัดๆ มากขึ้นว่า ถ้าเราเปลี่ยนความคิดแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จากที่เรามองสิ่งรอบๆ ตัวเป็นแค่ประตู พื้น เสาไฟฟ้า ถ้าลองเปลี่ยนความคิดของเราว่า สิ่งที่อยู่รอบตัวเรามันมีอีกมิติหนึ่ง ความสวยงามหรือศิลปะจริงๆ ไม่ได้อยู่แค่ในแกลเลอรี แต่อยู่ในทุกๆ ที่ที่เราเดินทางไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่น่าค้นหา แล้วเดี๋ยววันนั้นผมจะบอกว่าทุกคนจะได้เจอกับอะไรบ้าง

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยให้ทุกคนต่อยอดในการที่จะมองเห็นตัวเองมากขึ้น พอเป็นงานศิลปะ ผมคิดว่าทุกคนมีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเทคนิคมาทีหลัง แต่เรื่องของความรู้สึก ความเป็นมนุษย์ต้องมาก่อน

ความพิเศษของสถานที่ Metrao Art ในมุมมองช่างภาพ

การเดินทางในแต่ละวัน ถ้าขาดสีสันมันไม่สนุกนะ มันจะเป็นการเริ่มต้นวันที่ทึบๆ ตันๆ แต่เมื่อเป็นสถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยศิลปะ มีสีสันของงานอาร์ต จากผลงานของศิลปินแต่ละท่านที่มารวมกันที่นี่ เวลาเราไปทำงานหรือเดินทาง เรามีความรู้สึกคลุกคลีตีโมงกับความสวยความงามเหล่านี้ ก็จะช่วยให้เราลดความกังวลใจ และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

‘เมโทร อาร์ต’ มากไปด้วยศิลปะ อยากให้ทุกคนลองเอาศิลปะของตัวเองผสมกลมกลืนให้ทุกอย่างเป็นส่วนเดียวกัน เพื่อให้เห็นภาพว่า จริงๆ แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งกับงานศิลปะได้ อยากให้ทุกคนมาที่ เมโทร อาร์ต แห่งนี้นะครับ มาดูงานศิลปะกัน ในขณะเดียวกันมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ และศิลปะก็จะเป็นส่วนหนึ่งของเรา

ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ‘Happy Journey with BEM 2023 : ชวนถ่ายภาพ เล่าเรื่องรอบราง’ ณ เมโทร อาร์ต MRT สถานีพหลโยธิน รอบบุคคลทั่วไป วันที่ 19 ตุลาคม 2566 สามารถติดตามรายละเอียดและร่วมสนุก เพื่อลุ้นเป็นผู้โชคดีได้ที่ เฟซบุ๊ก: BEM Bangkok Expressway and Metro หรือคลิก https://www.facebook.com/BEM.MRT

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน