วงมโหรี คือวงดนตรีไทยซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีไทยทั้ง ๔ ประเภท คือ ดีด สี ตี และเป่า เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงมโหรี คือเครื่องดนตรีจากวงปี่พาทย์และวงเครื่องสายมาประสมกัน โดยกำหนดว่าให้เครื่องดนตรีจากวงปี่พาทย์เป็นเครื่องดำเนินทำนอง และเครื่องตีทุกประเภทต้องใช้ “ไม้นวม” เพื่อให้เกิดเสียงนุ่มนวลและไม่ดังจนเกินไป เสียงที่ออกมาจึงมีความไพเราะ และกลมกลืนเข้ากันเป็นอย่างดี ในอดีตวงมโหรีนิยมใช้บรรเลงในพิธีการมงคลและบรรเลงให้เจ้านายในราชสำนักสำหรับกล่อมพระบรรทม ปัจจุบันวงมโหรีนั้นสามารถพบได้ในงานมงคล หรืองานแสดงมหรสพหลวง เนื่องจากการปรับวงมโหรีนั้นมีความยุ่งยากกว่าวง ปี่พาทย์และวงเครื่องสาย โดยวงมโหรีที่เป็นมาตรฐานมีอยู่ ๓ ประเภท คือวงมโหรีวงเล็ก วงมโหรีเครื่องคู่ และวงมโหรีเครื่องใหญ่

นอกจากวงมโหรีมาตรฐานทั้ง ๓ ขนาดดังกล่าวแล้ว ยังมีวงมโหรีอีกหนึ่งประเภทคือ วงมโหรีหลวงแบบพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีเครื่องดนตรีประกอบด้วย ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้อง ซอสามสาย จะเข้ ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ยเพียงออ ฉิ่ง กรับพวง โทน-รำมะนา และ โหม่ง ซึ่งวงมโหรีประเภทนี้เป็นรูปแบบวงมโหรีที่ใช้ในการประกวดดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา “ประลองเพลง ประเลงมโหรี”

ธนาคารกรุงเทพ จัดการประกวดดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ดำเนินการจัดการประกวดดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ จนถึงปัจจุบัน เพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการที่จะส่งเสริมให้เยาวชนไทย รวมทั้งครูผู้สอนดนตรีไทยให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องวงมโหรีที่ถูกต้อง ทั้งด้านมาตรฐานเสียง ประเภทของเพลงที่ใช้ ตลอดจนระเบียบแบบแผนในการใช้เครื่องดนตรีไทยในวงมโหรี

จากการจัดการประกวดดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” ตลอดระยะเวลา ๓๕ ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าผ่านเวทีการประกวดในรายการนี้ ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการบรรเลงดนตรีไทยประเภทวงมโหรีอย่างถูกต้องตามแบบแผนที่ได้รับสืบทอดมาจากโบราณจารย์ นอกจากนี้นักเรียนที่เข้าประกวดหลายราย ได้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา สาขาวิชาดนตรีไทย และต่อยอดเป็นครูผู้สอนที่มีความรู้ด้านดนตรีไทย สร้างคุณประโยชน์ทางด้านวิชาการ สืบสานการเรียนการสอนด้านดนตรีไทย อันเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติสืบไป

การประกวดดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” ครั้งที่ ๓๕ ประจำปี ๒๕๖๖ นี้ จัดการประกวดในประเภทต่างๆ ประกอบด้วย การประกวดประเภทการบรรเลงรับร้อง “ถ้วย ก” การประกวดประเภทการบรรเลงรับร้อง “ถ้วย ข” การบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรี “ซอสามสาย” “ซอด้วง” “ฆ้องวงใหญ่” “ขลุ่ยเพียงออ” และ “ขับร้องเพลงไทย” ซึ่งการประกวดในปีนี้ มีโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าร่วมการประกวดจำนวน 32 โรงเรียน มีนักเรียนร่วมการประกวดกว่า 450 คน โดยจัดการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ณ ห้องบัวหลวง ชั้น 30 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม เมื่อวันที่ 16 วันที่ 23 และ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าประกวดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท จะได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานรางวัล จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสต่อไป

รางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท มีดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ประเภทการบรรเลงรับร้อง “ถ้วย ก” คือ วงวิทยาลัยนาฏศิลป วิทยาลัยนาฏศิลป

รางวัลชนะเลิศ ประเภทการบรรเลงรับร้อง “ถ้วย ข” คือ วงวิทยาลัยนาฏศิลป วิทยาลัยนาฏศิลป

รางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยวขับร้องเพลงไทย คือ นางสาวธัญกร ผดุงถิ่น โรงเรียนราชวินิต มัธยม

รางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยวเครื่องดนตรี – ซอสามสาย คือ นางสาวจรดภครพร เสนีย์วงษ์ ณ อยุธยา โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี

รางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยวเครื่องดนตรี – ซอด้วง ไม่มีโรงเรียนไหนได้รับรางวัลชนะเลิศ

รางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยวเครื่องดนตรี – ขลุ่ยเพียงออ คือ นายสวิตต์ แซ่แต้

โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

รางวัลชนะเลิศ ประเภทเดี่ยวเครื่องดนตรี – ฆ้องวงใหญ่ คือ นายธนิชศร สุขนิมิตร

โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา กรุงเทพมหานคร

ผลการประกวดดนตรีไทย ระดับมัธยมศึกษา ประลองเพลง ประเลงมโหรี ครั้งที่ ๓๕ ประจำปี ๒๕๖๖ ทุกรางวัล

คลิก https://www.bangkokbank.com/th-TH/About-Us/Corporate-Social-Responsibility/Thai-music-contest

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน