เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาลดหย่อนภาษี 2 เท่า เมื่อบริจาคให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Donation อีก 5 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572

โดย ครม. อนุมัติร่างกฎหมายขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่ กสศ. โดยออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้

สาระสำคัญที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยให้หักลดหย่อน หรือ หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค (เดิมสิ้นสุดลงวันที่ 31 ธันวาคม 2566) สำหรับการบริจาคที่กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ของกรมสรรพากร โดยขยายเวลาออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2572 โดยได้ปรับปรุงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเพิ่มเติมการยกว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์สำหรับการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่กองทุนดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้มีผู้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ กสศ. อย่างต่อเนื่อง อันจะช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านการศึกษาและขจัดปัญหาความเหสื่อมล้ำทางการศึกษาของประชาชน ประกอบกับสำนักงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว

ขณะที่ ครม. มอบหมายให้ กสศ. ร่วมขับเคลื่อนและสร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่ กสศ. รวมทั้งร่วมติดตามและประเมินประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้และนำส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่กระทรวงการคลังเป็นรายปีจนสิ้นสุดมาตรการ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยมาตรการภาษีดังกล่าวทำให้สูญเสียรายได้ภาษีปีละประมาณ 50 ล้านบาท แต่จะเป็นการช่วยให้เด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม รวมทั้งเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา

บริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คลิกที่ https://www.eef.or.th/donate/

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน