สถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนมกราคมนี้มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองสูง เกินค่ามาตรฐาน ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยกรมควบคุมมลพิษได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝุ่นอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2567 เป็นต้นมา เนื่องจากอัตราการระบายอากาศต่ำ ทำให้มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศเพิ่มขึ้น ค่าฝุ่นจึงเกินมาตรฐาน กลายเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก เพื่อดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่ง กทม. ได้ดำเนินการตามมาตรการในการดูแลและควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่น ประกอบด้วย

ด้านการเฝ้าระวัง

กทม. ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปริมาณฝุ่น PM 2.5 ด้วยการใช้เทคโนโลยี อาทิ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ รายงานสภาพอากาศและปริมาณฝุ่นผ่าน Line Alert ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชน หรือเช็กข้อมูลด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK หรือ www.airbkk.com และการได้รับความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยเฝ้าระวังและร่วมรายงานผ่าน Traffy Fondue เป็นต้น

ด้านการกำจัดต้นตอ

กทม. ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และใช้มาตรการเชิงรุก ตรวจสอบแหล่งกำเนิดฝุ่นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤต เพื่อควบคุมต้นตอของจุดกำเนิดฝุ่น PM 2.5 จากต้นทาง อาทิ เพิ่มความเข้มงวดการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะ สถานที่ก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรม ควบคุมการเผาเศษวัสดุชีวมวล โดยเฉพาะการเผาพืชผลทางการเกษตร การใช้ CCTV ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชนและทุกภาคส่วนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง เช่น การบริการตรวจวัดควันดำเครื่องยนต์ฟรี ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การขอความร่วมมือส่วนราชการและภาคเอกชนทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน เป็นต้น

ชวนคนกรุงฯ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรองลด PM 2.5 พร้อมโปรโมชันส่วนลดสูงสุด 55% จาก 15 บริษัทค่ายรถยนต์และผู้ค้าน้ำมัน วันนี้ – สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เปลี่ยนแล้วมาแปะสติกเกอร์ “รถคันนี้ #ลดฝุ่น”

ด้านการป้องกันสุขภาพ

กทม. จัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ และทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และหลอดเลือด รวมไปถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เพื่อให้ความรู้คำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM 2.5 งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง เช่น งดสูบบุหรี่ งดการเผาในที่โล่งแจ้ง เป็นต้น สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น เมื่อต้องอยู่นอกอาคาร จำกัดเวลาในการทำกิจกรรม และหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านหรืออาคาร ส่งมอบหน้ากากอนามัย สำหรับผู้ใหญ่และเด็กแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ 8 แห่ง ในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และจัดพื้นที่ Safe Zone ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

กทม. พร้อมเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฝ้าระวังไม่ให้ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ได้ดำเนินการร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเต็มกำลัง

ติดตามคุณภาพอากาศประจำวัน

  • แอปพลิเคชัน : AirBkk
  • www.airbkk.com
  • Facebook : กรุงเทพมหานคร และ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน