พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

 

ถ้าจะพูดถึงพระเครื่องเก่าแก่ในแถบกรุงเทพฯ-ธนบุรีแล้ว ชื่อ “พระวัดพลับ” ต้อง ติดในโผต้นๆ เพราะเป็นพระที่มีอายุความเก่ามากกว่า 200 ปี มากกว่า “พระสมเด็จวัดระฆังฯ” พระดังระดับประเทศ ที่อยู่ฝั่งธนบุรีเช่นกันอีกด้วย

ด้วยเนื้อหามวลสารแล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เจ้าตำรับพระผง พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

วัดพลับ หรือ “วัดราชสิทธาราม” บางกอกน้อย เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและพระบูชา เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดพระเนื้อผงยอดนิยม ที่เรียกขานกันในนาม “พระวัดพลับ”

ถึงแม้ว่าลักษณะองค์พระจะดูง่ายๆ ไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่ “พระวัดพลับ” สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้มากมาย เมื่อมองแล้วจะเกิดความรู้สึกลึกซึ้งนุ่มนวล กอปรกับพุทธคุณอันเลิศล้ำ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงในเวลารวดเร็ว ปัจจุบันแทบจะหาดูหาเช่าของแท้ได้ยากมากๆ

พระวัดพลับแตกกรุเมื่อประมาณปี พ.ศ.2470

ต้องขอบคุณเจ้ากระรอกเผือกตัวน้อย ที่นำพาไปพบกับสุดยอดวัตถุมงคล “พระวัดพลับ” และนี่ก็คงเป็นที่มาของชื่อกรุพระเจดีย์ว่า “กรุกระรอกเผือก” นั่นเอง

ต่อมาเจ้าอาวาสจึงเปิดกรุพระเจดีย์อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่ามีโพรงใหญ่อยู่กลางพระเจดีย์ และพบ “พระวัดพลับ” อีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังพบ “พระสมเด็จอรหัง” อีกจำนวนหนึ่งด้วย มีทั้งพิมพ์สามชั้นและพิมพ์ฐานคู่ ซึ่งพระสมเด็จอรหังนั้น สมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เป็นผู้สร้าง และก่อนที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จะไปครองวัดมหาธาตุฯ เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดพลับมาก่อน ประกอบกับพระวัดพลับเป็นพระเนื้อผงสีขาว และมีส่วนผสมคล้ายคลึงกับพระสมเด็จอรหังมาก

จึงสันนิษฐานได้ว่า “พระวัดพลับ” น่าจะสร้างโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชสุก (ไก่เถื่อน) เจ้าตำรับพระผงเช่นกัน

เนื้อหามวลสารของ “พระวัดพลับ” และ “พระสมเด็จวัดระฆังฯ” จะดูคล้ายคลึงกันมาก คือ เนื้อขององค์พระเป็นสีขาว มีความหนึกนุ่ม และมีรอยแตกร้าวแบบไข่นกปรอด

จะมีความแตกต่างกันตรงที่พระวัดพลับบางองค์จะมี “รอยลานของเนื้อพระ” อันเกิดจากความร้อน ซึ่งพระสมเด็จวัดระฆังฯ จะไม่ปรากฏรอยลานเลย แต่ก็ไม่ถือเป็นเอกลักษณ์สำหรับพระวัดพลับทุกองค์ และพบที่ทำด้วยตะกั่วก็มี มักทำแต่ขนาดเล็กและไม่ค่อยเป็นที่นิยม

พระวัดพลับที่พบมีมากมายหลายพิมพ์ ประทับนั่งขัดสมาธิก็มี เป็นพระไสยาสน์ก็มี เป็นพระปิดตาก็มี หรือจะเป็นแบบ 2 หน้าก็มี และได้รับการขนานนามกันไปต่างๆ ตามพุทธลักษณะขององค์พระ

อาทิ พิมพ์วันทาเสมา หรือ พิมพ์ยืนถือดอกบัว, พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่, พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก, พิมพ์พุงป่องใหญ่, พิมพ์พุงป่องเล็ก, พิมพ์สมาธิใหญ่, พิมพ์สมาธิใหญ่ แขนโต, พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง, พิมพ์พระภควัมบดีใหญ่, พิมพ์พระภควัมบดีเล็ก ฯลฯ

ที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือ “พระวัดพลับ พิมพ์วันทาเสมา”

พิมพ์วันทาเสมา หรือ พิมพ์ยืนถือดอกบัว อันนับเป็นพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในหลายๆ พิมพ์ของพระวัดพลับนั้น อาจเป็นเพราะพิมพ์นี้มีจำนวนพระน้อย และมีพุทธลักษณะที่แปลกแตกต่างก็เป็นได้ ลักษณะพิมพ์ทรงยาวรีแบบเม็ดขนุน ขนาดองค์พระกว้างประมาณ 1.8 ซ.ม. สูงประมาณ 3.5 ซ.ม. ด้านหลังนูนเล็กน้อย หลังแบนก็มีบ้าง

– พระเกศสั้นจิ่มบนมุ่นพระเมาลี เหมือนสวมหมวกกุยของชาวจีน

– พระนาสิกยื่นเป็นติ่ง

– พระหนุ (คาง) ยื่นแหลม มีเส้นหนวดเครา

– มีเส้นเอ็นพระศอ 2 เส้น

– พระหัตถ์ลักษณะคล้ายถือดอกบัวอยู่ อันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

– ลำพระองค์ค้อมเล็กน้อย

– ส่วนพระโสณี (สะโพก) มักนูนเป็น กระเปาะ คล้ายไหกระเทียม

– ปลายจีวรสั้น แลคล้ายนุ่งกางเกงขาลอย

– ปลายพระบาทเอียงลาด ด้านหลังจะยื่นออกเล็กน้อย

สำหรับพิมพ์อื่นๆ ที่เป็นที่นิยมและเล่นหาในวงการเช่นกัน ติดตามฉบับหน้าครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน