ข่าวสดพระเครื่อง

วัตถุมงคลที่เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีต่างๆ เป็นปฐมฤกษ์ ตอนที่ 4

12.วัตถุมงคลชุด ภปร สร้างศาลาพระราชศรัทธา

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พ.ศ.2535

วันที่ 24 ตุลาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินที่วัดปทุมวนาราม ก่อนเสด็จฯ มายังลานปฏิบัติธรรมที่สร้างขึ้นชั่วคราว

ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงมีพระราชปรารภถึงการสร้างศาลาเป็นการถาวร เพื่อสงเคราะห์พุทธบริษัทที่มาฝึกอบรมปฏิบัติธรรมได้สะดวกสบายขึ้น และมีพระราชกระแสรับสั่งให้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร รับผิดชอบดำเนินการโครงการ “ศาลาพระราชศรัทธา” และ “มูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา” พร้อมเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535

ส่วนเงินทุนในการก่อสร้าง คณะกรรมการที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เป็นประธาน มีมติให้จัดสร้างวัตถุมงคล เพื่อสมนาคุณผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนสร้าง ประกอบด้วย “พระพุทธรูปบูชาพระเสริม ภปร” และ “พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์นวปทุม ภปร” พร้อมวัตถุมงคลอื่นๆ

ในการนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อวัตถุมงคลเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2535
2
13.พระกริ่ง ภปร ธรรมศาสตร์ 60 ปีเหรียญพระพุทธสิหิงค์ ภปร

60 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ พ.ศ.2537

วันที่ 27 มิถุนายน 2537 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทยได้เวียนมาบรรจบ ครบรอบ 60 ปีแห่งการสถาปนา คณะกรรมการจัดงานฉลองฯ มีความเห็นเป็นโอกาสอันเป็นสิริมงคล ดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลเป็นอนุสรณ์

ในการนี้ คณะกรรมการจัดงานฉลองฯ นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญตราสัญลักษณ์ “อักษรพระปรมาภิไธย ภปร” ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ฐาน “พระกริ่ง” และด้านหลัง “เหรียญพระพุทธ สิหิงค์” เพื่อความเป็นสิริมงคล

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงเป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธีภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันพุธที่ 29 มิถุนายน 2537 เวลา 16.30 น.

14.เหรียญพระมหาชนก รุ่นแรก พ.ศ.2539

พระมหาชนก คือ พระโพธิสัตว์หนึ่งใน พระชาติ 10 พระชาติสุดท้าย ก่อนจะทรงอุบัติขึ้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชาดกวรรณคดีในพระพุทธศาสนา เรื่องการบำเพ็ญพระบารมีในส่วนของพระวิริยบารมี

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชศรัทธาปสาทะในพระจริยาวัตรของพระมหาชนก ในการทางบำเพ็ญพระวิริยบารมี ทรงพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เพื่อทรงชี้แนะให้เห็นถึงความเพียรที่บริสุทธิ์เป็นคุณธรรมที่เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และเป็นมรดกทรงธรรมแก่กุลบุตรกุลธิดาชาวไทยสืบไป

นอกจากหนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ที่มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการจัดพิมพ์แล้ว ยังพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการจัดสร้าง เหรียญพระมหาชนก ควบคู่กับหนังสือ

เหรียญพระมหาชนก เป็นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นควบคู่กับหนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์” เปิดให้ผู้สนใจสั่งจอง 2 แบบ 2 ราคา คือ

1.ชนิดราคา 50,000 บาท ประกอบด้วย หนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์” จำนวน 1 เล่ม พร้อมเหรียญพระมหาชนก 3 กษัตริย์ คือ เหรียญพระมหาชนกเนื้อทองคำ จำนวน 1 เหรียญ เหรียญพระมหาชนกเนื้อนาก จำนวน 1 เหรียญ และเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงินจำนวน 1 เหรียญ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกันและกล่องบรรจุเป็นสีน้ำเงิน

2.ชนิดราคา 5,000 บาท ประกอบด้วยหนังสือ “พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์” พร้อมเหรียญพระมหาชนกเนื้อเงิน จำนวน 1 เหรียญ บรรจุอยู่ในกล่องเดียวกัน โดยกล่องบรรจุหนังสือฯ และเหรียญเป็นสีแดง

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการประกอบพระราชพิธีชัยมังคลาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน