หลวงพ่อดิษฐ์ ติสโส วัดอัมพวัน จ.นนทบุรี

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

เมืองนนทบุรี เป็นถิ่นกำเนิดพระเกจิ อาจารย์ชื่อดังอยู่หลายรูป แต่ละท่านล้วนมีความโดดเด่นทางด้านความถนัดแตกต่างกันในด้านพุทธาคมหลายแขนง

“พระครูนนทภัทรประดิษฐ์” หรือ “หลวงพ่อดิษฐ์ ติสโส” แห่งวัดอัมพวัน ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ชื่อดังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อัตโนประวัติ ไม่ได้รับการบันทึกที่ชัดเจนเป็นหลักฐาน อาศัยเพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ ทราบว่าเป็นชาวจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ ฐานะอยู่ในขั้นมีอันจะกิน ในวัยเด็ก เป็นคนขยันขันแข็งและมีความอดทนกับงานหนักทุกอย่าง เมื่อบิดาล่องเรือนำผลไม้มาขายในกรุงเทพฯ มักจะขอติดตามมาด้วยทุกครั้ง

วันหนึ่งบิดาถูกงูพิษกัด พยายามช่วยเหลือทุกวิถีทางแต่ก็ไม่สำเร็จ จนกระทั่งบิดาเสียชีวิต ยังความเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก ทำให้เกิดความคิดว่าหากมีวิชาความรู้ทางการแพทย์ บิดาก็คงมีโอกาสรอดชีวิตแน่นอน ดังนั้น หลังงานศพเสร็จ จึงขออนุญาตมารดาเข้าบรรพชาเพื่อศึกษาหาความรู้วิชาทางการแพทย์

ท่านได้เรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่อโต เจ้าอาวาสวัดท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งมีชื่อเสียงความโด่งดังมากในเรื่อง การรักษาโรคด้วยวิทยาคมกับสมุนไพรไทย

ทั้งนี้ หลวงพ่อโต เป็นศิษย์เอกของ ‘หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน’ ผู้สร้างหนุมานเลื่องลือก้องสะท้านวงการเครื่องรางของขลัง วิทยาคมต่างๆ ของหลวงพ่อสุ่นได้ถ่ายทอดให้กับหลวงพ่อโตจนหมดสิ้น

ครั้นหลวงพ่อดิษฐ์ได้ฝากเป็นศิษย์ของหลวงพ่อโต ด้วยความขยันขันแข็งและมีความตั้งใจจริงที่จะศึกษาหาความรู้ในวิชา ทำให้หลวงพ่อโตตัดสินใจถ่ายทอด วิชาอาคมต่างๆ ให้กับท่านจนหมดสิ้น

หลวงพ่อโตกล่าวสำทับกับหลวงพ่อดิษฐ์ก่อนที่ออกมาจากวัดท่าอิฐว่า “จงใช้วิชาอาคมที่ร่ำเรียนมาให้เกิดประโยชน์กับคนที่กำลังทุกข์เข็ญอย่างสุดฝีมือ อย่าได้ไปมองถึงสิ่งตอบแทน”

ด้วยคำสอนของผู้เป็นอาจารย์ ทำให้หลวงพ่อดิษฐ์มองเห็นผู้ตกทุกข์ได้ยาก คือ คนที่ต้องการความช่วยเหลือ แม้ว่าเขาจะไม่ออกปากขอร้องก็ตาม หลังจากนั้นท่านได้มาจำพรรษาที่วัดอัมพวัน ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ซึ่งขณะนั้นสภาพของวัดทรุดโทรมเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (สมัยของพระเจ้าปราสาททอง)

มีเรื่องราวเล่าขานว่า เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยามีโรคระบาดครั้งใหญ่ ผู้คนจำนวนมากล้มตายด้วยโรคห่า สมัยนั้นการแพทย์ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการรักษา โรคห่าได้ระบาดเป็นวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนในที่สุดพระเจ้าปราสาททอง ทรงอพยพไพร่ฟ้าประชาชนหนีมาตั้งมั่นที่วัดอัมพวันแห่งนี้ แล้วใช้สถานที่ของวัดประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถือศีล บำเพ็ญบุญฟังธรรม

วัดอัมพวัน สร้างขึ้นเป็นวัด เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2361 ในสมัยนั้นมีชื่อเรียกว่า “วัดบางม่วง” เพราะที่ตั้งของวัดอยู่ติดกับคลองบางม่วง ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องของแร่บางม่วง ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์เทียบเคียงกับแร่บางไผ่-แร่บางเดื่อ

หลวงพ่อดิษฐ์ เคยนำแร่บางม่วงมาทำเป็นพระปิดตาแร่บางม่วง การเข้ามารับตำแหน่งเจ้าอาวาสของหลวงพ่อดิษฐ์ ท่านเริ่มหาปัจจัย เพื่อใช้เป็นทุนรอนในการสร้างวัดบางม่วง ท่านไม่เคยเรียกร้องปัจจัยจากพวกชาวบ้าน แต่เพราะท่านเป็นพระที่มีแต่ให้ จึงทำให้คนทั่วไปสรรเสริญและยกย่องในตัวของท่าน

การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อดิษฐ์ในแต่ละครั้ง จะนำปัจจัยเข้ามาสู่วัดเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แม้แต่การรักษาโรคของท่าน หลวงพ่อดิษฐ์ก็ไม่เคยร้องค่ายา แม้แต่สตางค์แดงเดียง แต่ชาวบ้านสมัครใจจะบริจาคปัจจัยให้กับท่าน

ในเวลาเพียงไม่นาน หลวงพ่อดิษฐ์สามารถบูรณะซ่อมแซมวัดบางม่วงให้กลับคืนสู่ดังเดิมได้อย่างสมบูรณ์กล่าวขวัญกันว่า หลวงพ่อดิษฐ์ เป็นเจ้าตำรับสุดยอดแห่งเครื่องรางของขลัง ในรูปแบบของปลาเงิน-ปลาทอง หรือปลาตะเพียนคู่

ปลาตะเพียนคู่ของหลวงพ่อดิษฐ์นั้นเป็นหนึ่งในเครื่องรางของขลังที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น สุดยอด รูปแบบของปลาตะเพียนจะเป็นพวง มีปลาด้วยกันทั้งสิ้น 9 ตัว ทำด้วยแผ่นทองเหลืองขัดมันมีรูแขวนตรงกลีบบัวโลหะฉลุ 8 แฉก มีความสวยงาม เปี่ยมด้วยพุทธคุณ

ทุกวันนี้ ยังเป็นที่กล่าวขวัญสืบมาจนถึงบัดนี้

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน