สมเด็จเจ้าแตงโม วัดใหญ่สุวรรณาราม

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

สมเด็จเจ้าแตงโม วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร .เพชรบุรี พระมหาเถรา จารย์ใหญ่ผู้มากด้วยอิทธคุณและบุญฤทธิ์ ผู้เป็นตำนานแห่งศรัทธามาหลายร้อยปี เดิมชื่อ ทอง เป็นชาวนาหนองหว้า กำพร้าพ่อแม่แต่เล็กอยู่กับพี่สาว

อายุประมาณ 9-10 ขวบ พี่สาวใช้ให้ตำข้าว หาฟืนทุกวัน วันหนึ่งตำข้าวหก พี่สาวคว้าฟืนไล่ตีเลยวิ่งหนีเอาตัวรอด ระเหระหน เข้าเมือง จนมีเพื่อนเล่นเพื่อนเที่ยวมาก เช่น เด็กบ้าน เด็กวัด

วันหนึ่งลงเล่นน้ำกับเด็กวัดใหญ่ที่ท่าหน้าวัด มีเปลือกแตงโมลอยน้ำมา 1 ชิ้น ด้วยความหิวจึงคว้าเปลือกแตงโม แล้วดำน้ำลงไปเคี้ยวกินแล้วโผล่ขึ้นมา เพื่อนเด็กที่เล่นน้ำด้วยกันรู้ว่าเด็กทองกินเปลือกแตงโม จึงได้พากันเรียกว่า เด็กแตงโม

สมเด็จเจ้าแตงโม

ตั้งแต่วันนั้น เข้าไปเล่นหัวอยู่ในวัดกับเพื่อน ทั้งได้ดูเพื่อนเขียนอ่านกันอยู่เนืองๆ กระทั่งสมภารไต่ถามเรื่องราวต่างๆ จนได้ความ จึงชักชวนให้อยู่ในวัดมิให้ระเหระหนไปไหน

ธรรมเนียมวัดแต่โบราณ เมื่อพาเด็กให้มาเล่าเรียนแล้ว มักจะปล่อยให้เล่นหัวกันเสีย ให้คุ้นเคยก่อน จึงจะให้ลงมือเขียนอ่าน พอถึงวันกำหนด ท่านจึงเรียกเด็กทองให้เขียนหนังสือ เด็กทองก็เขียนได้ตั้งแต่ , , . กา, ไปตลอดจนอ่านหนังสือ พระมาลัยได้ ท่านมีความประหลาดใจ จึงถามว่า รู้มาจากไหน เด็กทองบอกว่ารู้ที่วัดนี้เอง เพราะดูเพื่อนเขาเขียนเขาอ่านจึงจำได้

สมภารจึงได้ให้บวชเป็นสามเณร หัดเทศน์ธรรมวัตรและมหาชาติ และเรียนอรรถแปลบาลีด้วย

ครั้นเทศกาลเข้าพรรษา เจ้าเมืองให้สมภารเทศน์ไตรมาส วันหนึ่งเกิดอาพาธ จึงให้สามเณรแตงโมไปแทน ครั้นสามเณรแตงโมไปถึงเจ้าเมืองเห็นเข้าก็ไม่ศรัทธา จึงบอกว่าเมื่อสามเณรมาแล้วก็เทศน์ไปเถิด แล้วกลับเข้าไปในห้องเสีย

สามเณรแตงโมก็ขึ้นเทศน์ พอตั้งนะโมแล้วเดินบทจุลนีย์ เริ่มทำนองธรรมวัตรสำแดงไป ผู้ทายกทั้งข้างหน้าข้างในได้ฟังเพราะจับใจ ทั้งกระแสเสียงก็แจ่มใส เมื่อเอ่ยถึงพระพุทธคุณมีพระอรหังเป็นต้น เสียงสาธุการและพนมมือแลเป็นฝักถั่วไปทั้งโรงธรรม

ท่านเจ้าเมืองฟังอยู่ข้างในถึงกับนั่งอยู่ไม่ได้ ต้องกลับมานั่งฟังข้างนอก และเพิ่มเครื่องกัณฑ์ติดเทียนขึ้นอีก เมื่อเทศน์จบแล้ว โดยความเลื่อมใสเข้าไปประเคนของและซักไซ้ไต่ถามเหตุผลว่าอยู่ที่ไหนแล้วปวารณาเป็นโยมอุปัฏฐาก อาราธนาให้มาแทนสมภารต่อไปว่า ท่านแก่เฒ่าชราอาพาธอย่าให้มาประดักประเดิดเลย ขอให้พ่อเณรมาเทศน์แทนท่านเถิด

ต่อนั้นไป สามเณรแตงโม เล่าเรียนศึกษายังอาจารย์ที่มีอยู่ในอารามต่างๆ ในเมืองเพชรบุรี การศึกษาเช่นทางพระปริยัติธรรมและข้อกิจวัตรปฏิบัติ จนสิ้นความรู้ของท่านสมภารในสมัยนั้น

ท่านสมภารจึงพาตัวสามเณรแตงโม เข้ากรุงศรีอยุธยา ไปฝากไว้ต่อคุณวัดหลวงแห่งหนึ่ง ศึกษาพระปริยัติธรรม จนจบพระไตรปิฎก นับได้ว่าเป็นเปรียญแล้ว

ต่อมาเข้าพิธีอุปสมทบเป็นพระภิกษุที่มีชื่อเสียงโด่งดัง จนเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินนับถือ โปรดให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือพระราชบุตร พระราชนัดดา ให้เสด็จมาเล่าเรียนพระพุทธศาสนา ปฏิบัติในคัมภีร์พระไตรย์เภธางค์สาตร์

กาลภายหลังมา เมื่อสมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอ เสด็จเสวยราชย์แล้ว โปรดตั้ง พระอาจารย์แตงโมเป็นพระราชาคณะที่ พระสุวรรณมุนี ซึ่งปรากฏในฝูงชนภายหลังเรียกกันว่า สมเด็จเจ้าแตงโม

เมื่อท่านมั่งคั่งด้วยสมณศักดิ์ฐานันดรแล้ว ภายหลังต่อมาคิดถึงภูมิลำเนาบ้านเกิดเดิม และวัดอันเป็นสถานมูลศึกษาของท่าน จึงได้ถวายพระพรลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินว่า จะออกไปปฏิสังขรณ์พระอารามที่เคยอยู่พำนักอาศัยเป็นการบำเพ็ญพุทธบูชา ทรงอนุญาตอนุโมทนา

สมเด็จเจ้าแตงโม ถึงแก่มรณภาพปีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่ชีวประวัติและผลงานของท่านในจังหวัดเพชรบุรี ที่วัดใหญ่สุวรรณารามและวัดหนองหว้า รู้จักกันแพร่หลายมาแต่โบราณ

ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 และของบุคคลอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นที่เชิดชูชื่อเสียงของวัดใหญ่สุวรรณารามและจังหวัดเพชรบุรีอีกทางหนึ่งด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน