คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6 : หลวงพ่อสว่าง อุตตโร วัดท่าพุทรา กำแพงเพชร

หลวงพ่อสว่าง อุตตโร วันพุธที่ 17 มิ.ย. 2563 น้อมรำลึกครบรอบ 137 ปี ชาตกาล พระวิบูลวชิรธรรม หรือ หลวงพ่อสว่าง อุตตโร วัดท่าพุทรา ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองกำแพงเพชร

มีนามเดิมว่า สว่าง เจริญศรี เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 17 มิ.ย.2426 ที่บ้านน้ำหัก ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์

เมื่อเกิดได้เพียง 5 วัน มารดาก็เสียชีวิต ย่างเข้าสู่วัยเยาว์ อายุพอสมควรที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ก็เริ่มศึกษาเล่าเรียนอักขรสมัย และหนังสืออักขระขอมเบื้องต้นจากขุนเจริญสวัสดิ์
อายุ 13 ขวบ บิดาเสียชีวิต เนื่องจากบิดาเป็นผู้มีความสามารถ เฉลียวฉลาด มีคนเคารพนับถือทั้งในหมู่บ้านและภูมิลำเนาใกล้เคียง

ต่อมาญาติสนิทได้นำไปฝากกับหลวงพ่อเผือก (พระครูบรรพโตปมญาณ) วัดหัวดงเหนือ ต.หัวดง อ.บรรพต พิสัย จ.นครสวรรค์

ในสมัยนั้น วัดหัวดงเหนือเป็นสำนักเรียนอักขร สมัยมูลกัจจายน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ศึกษาเล่าเรียนมูล กัจจายน์ และหนังสืออักขระขอมอยู่ที่วัดหัวดงเหนือเป็นเวลานาน 7 ปี มีพระอาจารย์สด (ต่อมาได้เลื่อนฐานะเป็นพระครูสวรรค์วิถี) เป็นครูสอน

ครั้นอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันพุธที่ 3 ธ.ค.2445 ที่พัทธสีมาวัดขุนญาณ ต.คลองเมือง อ.กรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระญาณไตรโลก (สะอาด) วัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธรศรี วัดศาลาปูนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดแพ วัดศาลาปูน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อุตตโร”

ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและบาลี อยู่ที่สำนักเรียนวัดศาลาปูนเป็นเวลา 2 ปี และได้กลับมาอยู่กับหลวงพ่อเผือก ที่วัดหัวดงเหนือ จ.นครสวรรค์ ตามเดิม ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจากพระครูสวรรค์วิถี (พระอาจารย์สด) ก่อนย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดท่างิ้ว จ.นครสวรรค์ เป็นเวลา 2 พรรษา ต่อมาพระอาจารย์ปั้น เจ้าอาวาสวัดท่างิ้วได้มรณภาพ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทน

ในปี พ.ศ.2468 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี กิ่งอำเภอแสนตอ จ.กำแพงเพชร พ.ศ.2468 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2470 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิบูลวชิรธรรม
ในปี พ.ศ.2500 คณะสงฆ์อำเภอคลองขลุงและชาวตำบลท่าพุทราได้อาราธนาให้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดคฤหบดีสงฆ์ ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร สร้างความเจริญให้กับวัดแห่งนี้จวบจนวาระสุดท้าย

พ.ศ.2501 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิบูลวชิรธรรม
จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จัดสร้างเหรียญปลอดภัย และเหรียญที่ระลึกรูปเหมือนขนาดต่างๆ นอกจากเหรียญวัตถุมงคลยังมีผ้ายันต์ ธงทิว และยันต์หนังเสือ เป็นต้น

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมคือ พระผงว่าน 108 ชนิด ผสมผงมหาราช เป็นรูปพระพุทธแบบสามเหลี่ยม และเม็ดน้อยหน่าจัดสร้างในปี พ.ศ.2480-2483 เมื่อครั้งอยู่ จำพรรษาที่วัดท่างิ้ว

เคยมอบให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี นำไปแจกทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีน สร้างครั้งเดียวแล้วไม่ได้สร้างอีกเลย นับว่าเป็นพระผงที่ควรหาไว้ใช้เป็นอย่างยิ่ง ช่วงปัจฉิมวัยอาพาธบ่อยครั้ง สุดท้ายถึงแก่มรณภาพอย่างสงบ วันอังคารที่ 1 ก.พ.2520 เวลา 14.30 น.

สิริอายุ 94 ปี พรรษา 74

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน