ภารกิจ การจัดกำลัง และ เพิ่มขีดความสามารถ “กองกำลังบูรพา” ตอบสนองต่อแผนป้องกันประเทศ
ตามยุทธศาสตร์ กอ.รมน. 2560-2564 จัดระเบียบชายแดน พร้อมดูแลปชช.

จากสถานการณ์ความไม่สงบภายนอกประเทศ ในเขต จ.ปราจีนบุรีเดิม กองทัพบก จึงได้จัดตั้ง “ที่บังคับการร่วมบูรพา” ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2518 ต่อมา ในปี พ.ศ.2521 ได้แปรสภาพเป็น “กองกำลังบูรพา” โดยจัดกำลังจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล 2 รอ.) เป็นหน่วยหลัก ปีพ.ศ. 2543 มีการปรับการจัดกำลังจากทหารหลักเป็นกำลังประจำถิ่น

(โดยมีหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 13 และ หน่วยเฉพาะกิจตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 ) มาขึ้นควบคุมทางยุทธการ ในปีพ.ศ.2561 ได้รับอนุมัติอัตรากำลังทหารหลักเพิ่มเติม ( 3 บก.ควบคุม และ 3 หมวดเคลื่อนที่เร็ว) เพื่อควบคุมบังคับบัญชากำลังประจำถิ่น และรับผิดชอบพื้นที่ตามแนวชายแดน ภารกิจ และการจัดกำลัง กองกำลังบูรพา มีภารกิจ 3 ประการ คือ การป้องกันชายแดน, การรักษาความมั่นคงภายใน และการพัฒนาเพื่อความมั่นคง

มีการจัดกำลังประกอบด้วย หน่วยขึ้นตรงกองบัญชาการ จำนวน 8 หน่วย หน่วยขึ้นสมทบและขึ้นควบคุมทางยุทธการ จำนวน 7 หน่วย มีหน่วยเฉพาะกิจรับผิดชอบพื้นที่ ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจตาพระยา รับผิดชอบพื้นที่ อ.ตาพระยา และ อ.โคกสูง หน่วยเฉพาะกิจอรัญประเทศ รับผิดชอบพื้นที่ อ.อรัญประเทศ หน่วยเฉพาะกิจคลองหาด รับผิดชอบพื้นที่ อ.คลองหาด, อ.วังน้ำเย็น และ อ.วังสมบูรณ์

โดยมีกองร้อยเคลื่อนที่เร็วกองกำลังบูรพา รับผิดชอบพื้นที่ตอนใน และเป็นกองหนุนในการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ในภารกิจการรักษาความมั่นคงภายใน ประกอบด้วย 7 ชุดพัฒนาสัมพันธ์มวลชน และ 1 ชุดวิทยากรกระบวนการเครือข่ายผู้นำชุมชนเข้มแข็ง ส่วนภารกิจการพัฒนาเพื่อความมั่นคงนั้น มี 5 ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน เป็นส่วนปฏิบัติหลัก และยังมีหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมที่ 1 และ สำนักงานประสานงานชายแดน ไทย-กัมพูชา ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 1 ปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่

การตอบสนองต่อแผนป้องกันประเทศ กองกำลังบูรพาปฏิบัติตามแผนป้องกันชายแดนด้านทิศตะวันออกในพื้นที่ จ.สระแก้ว ในขั้นการปฏิบัติในปัจจุบัน หน่วยได้ ปฏิบัติตามพันธกิจ 3 ประการ ของกองทัพบก ประกอบด้วย

การเฝ้าตรวจและป้องกันชายแดน ให้ความสำคัญกับงานด้านการข่าว โดยได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลที่ตั้งการวางกำลังรวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงข้าม และทำการจัดตั้ง “ศูนย์ข่าวกรองกองกำลังบูรพา” เพื่อเป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านการข่าวใน จ.สระแก้ว โดยเน้นการดำเนินงานของ “ชุดซักถามขยายผล และ ชุดวิเคราะห์ข่าว” ทำให้สามารถค้นพบเครือข่ายของขบวนการผิดกฎหมาย และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดน

ในปี พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ทุกหน่วยเฉพาะกิจป้องกันชายแดน ทำการวิเคราะห์พื้นที่ปฏิบัติการ และภัยคุกคามในพื้นที่ นำมาพิจารณาปรับการวางกำลัง ด่านตรวจ จุดตรวจ และที่ตั้งฐานปฏิบัติการใหม่ เนื่องจากในพื้นที่มีสิ่งปลูกสร้างและเส้นทางคมนาคมเพิ่มมากขึ้น

จัดให้มีการลาดตระเวนร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างทหาร, ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กวดขันและตรวจสอบ ให้หน่วยปฏิบัติการลาดตระเวนทางพื้นดินระหว่างจุดตรวจ เสริมด้วยการลาดตระเวนทางอากาศด้วยการใช้โดรนและร่มบิน กำหนดให้มีการแข่งขันชุดปฏิบัติการป้องกันชายแดน และ ทดสอบการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทุกหน่วยมีความพร้อมในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ

การจัดระเบียบพื้นที่และแก้ไขปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ในการดำเนินการที่ผ่านมากองกำลังบูรพาได้จัดสร้างจุดต้านทานแข็งแรง Strong Point, ที่มั่นรบ และระบบเครื่องกีดขวาง ตามช่องทางที่ล่อแหลม จัดสร้างหลุมหลบภัยในหมู่บ้านตามแนวชายแดน โดยได้จัดเตรียมแผนการอพยพประชาชนและทำการฝึกอย่างต่อเนื่อง จัดให้มีการฝึกกำลังประชาชน

เพื่อจัดตั้งเป็น “กองพันกำลังประชาชน” ในพื้นที่ 4 อำเภอตามแนวชายแดน โดยเน้นให้มีการจัดโครงสร้างที่ชัดเจน และมีการจัดทำเนียบกำลังอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งกำหนดให้มีการฝึกทบทวนเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติทางทหารและการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่

การประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำการพบปะพัฒนาสัมพันธ์กับผู้นำทางทหาร ในทุกระดับอย่างแน่นแฟ้น เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหา ให้ยุติได้ตั้งแต่ระดับพื้นที่ รวมทั้งได้ทำการลาดตระเวนอย่างมีการประสาน ระหว่างกำลังฝ่ายไทยและกัมพูชา เพื่อตรวจตราตามแนวชายแดนและหลักเขตแดน

ในขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ในการยับยั้งและผลักดันกำลังฝ่ายตรงข้าม จะปฏิบัติตามแผน จักรพงษ์ภูวนารถ 1/1 กองกำลังบูรพา ซึ่งมีการปฏิบัติตั้งแต่การสกัดกั้นและทำลายกำลังฝ่ายตรงข้าม ด้วยกำลังของหน่วยเฉพาะกิจป้องกันชายแดน การใช้กำลังกองร้อยเคลื่อนที่เร็วของกองกำลังบูรพา จนถึงการใช้กำลังกองร้อยเตรียมพร้อมของกองทัพภาคที่ 1 ในพื้นที่

การตอบสนองต่อแผนการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับส่วนราชการ จำนวน 10 คณะ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงต่างๆที่เกิดขึ้น โดยมีการปฏิบัติที่สำคัญ คือ

การป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง สกัดกั้นและปราบปราม โดยขยายผลเครือข่ายต่อขบวนการ พิจารณามาตรการทางกฎหมายให้มีการลงโทษอย่างเหมาะสมแก่ผู้กระทำผิด โดยเน้นที่นายทุน และผู้นำพา เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนระยะทางในการข้ามแดนโดยใช้หนังสือผ่านแดน บอร์เดอร์พาส

สร้างแรงจูงใจ โดยผลักดันให้ฝ่ายกัมพูชาจัดทำฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน และจัดเก็บค่าธรรมเนียมให้เอื้อต่อการจัดทำบัตรผ่านแดน ควบคู่กับการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจและจัดเก็บค่าผ่านแดนฝั่งไทย เพื่อนำมาจัดทำฐานข้อมูล และจัดตั้งเป็นกองทุนที่โปร่งใสในการช่วยเหลือแก่ผู้ที่ผ่านแดนเข้ามาตามระบบ ผลจากการดำเนินการห้วงปีที่ผ่านมา ทำให้แรงงานในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว เข้าสู่ระบบได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม 5,000 คน เป็น 32,000 คน

สำหรับการแก้ไขปัญหายาเสพติด มุ่งเน้นการป้องกันด้วยการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะชุมชนระดับหมู่บ้าน สร้างแกนนำ และเครือข่ายในการต่อต้านยาเสพติด เพิ่มมาตรการในการสกัดกั้นการลักลอบนำยาเสพติดข้ามแดนร่วมกับทุกภาคส่วน

การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำการปราบปรามขบวนการลักลอบตัดไม้พยุง ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และปลูกจิตสำนึกของประชาชน โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ หน่วยเห็นว่า น้ำคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงได้น้อมนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ

“กองกำลังบูรพา ขอให้คำมั่นว่า จะเป็นหลักในการรักษาความมั่นคง ปกป้องเอกราชอธิปไตยของชาติ อย่างเต็มกำลังขีดความสามารถ ด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรีของทหารแห่งกองทัพบก เพื่อดำรงไว้ซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนภาคตะวันออก ให้เป็นที่เชื่อมั่นและ เป็นที่ศรัทธา ของประชาชน นำไปสู่ความผาสุกของประเทศชาติ อย่างยั่งยืน สืบไป “

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน