จิตแพทย์ แนะสังคม 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง คือ ผู้รอดชีวิต เชื่อเป็นบทเรียน ยกเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เข้าให้การช่วยเหลือเป็นวีรบุรุษ ด้าน หมอเวชศาสตร์ฯ เผยคุณสมบัติผ้าห่มฉุกเฉิน

จากกรณีการระดมค้นหานักฟุตบอลเยาวชน ทีมหมูป่าอคาเดมี 12 คน และผู้ฝึกสอนอีก 1 คน รวม 13 ชีวิต ที่สูญหายไปขณะเข้าไปเที่ยวภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทั่งเจ้าหน้าที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล ได้ค้นหาและให้การช่วยเหลือได้เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

จิตแพทย์ / เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกระแสสังคมที่มีต่อกรณีน้องๆนักฟุตบอล และผู้ฝึกสอน อายุ 25 ปี ทีมหมูป่าอคาเดมี ทั้ง 13 ชีวิต ว่า ทั้ง 13 คน อยู่ในฐานะผู้รอดชีวิต สิ่งที่ควรทำคือไม่ใช่การเข้าไปซ้ำเติม แต่สิ่งที่ควรทำคือการส่งเสริมการเป็นกลุ่มเป็นก้อนของเขา เช่น การสนับสนุนให้เล่นฟุตบอลตามที่เขาถนัด ส่งเสริมในเรื่องความเข้มแข็งจนผ่านวิกฤตได้ เพื่อให้เด็กมีชีวิตต่อไปอย่างมีคุณค่าและมีศักดิ์ศรี

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า เพราะเด็กที่รอดชีวิตออกมาจากการที่ต้องติดอยู่ในถ้ำเป็นระยะเวลานานเช่นนั้น คิดว่าเขารู้อยู่แล้วถึงผลกระทบและปัญหาต่างๆที่ตามมา และสิ่งที่เกิดขึ้นเขาก็ไม่ได้ตั้งใจ เชื่อว่าคงไม่กลับไปทำเช่นนั้นอีก นอกจากนี้ ก็ไม่ต้องไปยกย่องสรรเสริญว่าเป็นวีรบุรุษ สังคมต้องเข้าใจบทบาทของแต่ละฝ่าย เพราะเขา คือ ผู้รอดชีวิต ไม่ใช่วีรบุรุษ

“วีรบุรุษคือทีมช่วยเหลือทุกทีมที่มีการจัดการที่ดี ทั้งทีมที่ได้เปิดเผยตัวต่อสาธารณชน หรือที่ทำงานอยู่เบื้องหลังอีกมากที่ร่วมมือกันจนเจอเด็ก คนพวกนี้คือวีรบุรุษที่ต้องได้รับการยกย่อง ให้เขารู้สึกอิ่มเอมใจว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องในการช่วยเหลือจนเด็กรอดชีวิต” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า สิ่งที่คิดว่ายังเป็นปัญหาของสังคมไทย คือการสร้างระบบป้องกันของสังคมไทยที่ยังมีช่องว่างและยังมีจุดอ่อนอยู่ ไม่ใช่แค่พื้นที่ถ้ำหลวง แต่ยังมีอีกหลายที่ ซึ่งในการสร้างระบบป้องกัน ก็ต้องช่วยกันทั้ง 3 ฝ่าย ทั้ง 1.ทีมควบคุมกำกับดูแล จากส่วนราชการ ควรมีความเข้มงวดในการเข้าออก หากมีฝนหรือภัยธรรมชาติ 2.ในส่วนของประชาชนเจ้าของพื้นที่ ก็ต้องร่วมมือเป็นหูเป็นตาด้วยไม่ใช่รอแค่ส่วนราชการเพียงอย่างเดียว และ 3.ส่วนประชาชนผู้เข้าใช้บริการก็ควรปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่เด็กได้ร่วมกันวาดภาพร่วมกับหน่วยซีลบนก้อนหินภายในถ้ำ สะท้อนถึงอะไร นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า เขายังอยู่ข้างใน ใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ทรมานมาหลายวัน ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่างก็อาจจะต้องการทำเพื่อผ่อนคลาย ชลอการรอคอย ระหว่างที่รอเวลาออกมา ดังนั้นก็ต้องยอมรับในการแสดงออกนั้น

ด้าน นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เนื่องจากภายในถ้ำอาจจะมีอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น ซึ่งคุณสมบัติของผ้าห่มฟรอยด์ หรือผ้าห่มฉุกเฉิน ที่เจ้าหน้าที่นำไปให้น้องๆจะช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นจากภายนอกจะไม่สามารถเข้าไปกระทบผิวหนังของคนได้โดยตรง จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายค่อยๆอบอุ่นขึ้น ไม่ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน