รอง อธิบดี คพ. ถกลดปัญหา มลพิษข้ามแดน ประเทศเพื่อนบ้าน เผยข้อมูลปี 2559 ยานพาหนะของประเทศเพื่อนบ้านมีการระบายสารมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานกว่าในประเทศไทย

คพ.ประชุมแก้ปัญหามลพิษข้ามแดนปรเทศเพื่อนบ้าน

มลพิษข้ามแดน / เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรหนองคาย จ.หนองคาย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบด้านมลพิษทาง อากาศจากยานพาหนะข้ามแดน โดยมีสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองคาย ด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร สํานักงานขนส่ง หน่วยงานในท้องถิ่น และผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ เข้าร่วมการ ประชุม

นายเถลิงศักดิ์ กล่าวว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลให้มีปริมาณยานพาหนะบริเวณด่านชายแดนเพิ่มมากขึ้น เกิดการจราจรติดขัด โดยเฉพาะมลพิษจากยานพาหนะ จากข้อมูลปี 2559 พบว่า ยานพาหนะของประเทศเพื่อนบ้านมีการระบายสารมลพิษทางอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐานมากกว่ายานพาหนะของประเทศไทย เนื่องจากมาตรฐานการระบายสารมลพิษจาก ยานพาหนะและมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศเพื่อนบ้านต่ำกว่ามาตรฐานของประเทศไทย

นายเถลิงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งปัจจุบันไทยใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากยานพาหนะยูโร 4 ในรถยนต์ และมาตรฐานยูโร 3 ในรถบรรทุก ขณะที่ปัญหาบางส่วนเกิดจากการไม่ดับเครื่องยนต์ระหว่างยื่นเอกสารผ่านแดน และปัญหาแถวคอยที่รอคิวยาว เนื่องจากช่องการติดต่อทำเอกสารมีจำนวนน้อยทำให้จราจรหนาแน่น

ตรวจสารระบายมลพิษ

นายเถลิงศักดิ์ กล่าวอีกว่า คพ.จึงจัดทําร่างข้อเสนอแนะเชิงมาตรการเพื่อป้องกันผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะข้ามแดน โดยเสนอมาตรการในการบริหารจัดการและควบคุมปริมาณยานพาหนะข้ามแดน ซึ่งยานพาหนะที่ใช้ขนส่งสินค้าและคนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบภายในประเทศภาคีที่บังคับใช้อยู่อย่างเท่าเทียมกัน ได้แก่ การบริหารจัดการระบบจราจรในพื้นที่ด่านชายแดน การจัดตั้งจุดตรวจวัดมลพิษจากยานพาหนะข้ามแดน และการจัดตั้งศูนย์เช่ารถ เป็นต้น

“ส่วนมาตรการระหว่างประเทศ ได้แก่ การผลักดันให้มีการกําหนดมาตรฐานการระบาย มลพิษจากยานพาหนะและมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงของอาเซียน โดยให้การสนับสนุนข้อมูลและแนวทางในการ กําหนดมาตรฐานยานพาหนะและเชื้อเพลิงเพื่อเป็นมาตรฐานกลางสําหรับทุกประเทศในอาเซียน” นายเถลิงศักดิ์ กล่าว

รองอธิบดี คพ. กล่าวว่า การจัดทําร่างมาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ด่านชายแดนมาแล้ว จํานวน 3 ด่านได้แก่ ด่านศุลกากรช่องเม็ก ด่านศุลกากรแม่สาย และ ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จากข้อมูลในการติดตามตรวจวัดการระบายมลพิษจากยานพาหนะของทั้ง 3 ด่าน โดยเปรียบเทียบการระบายมลพิษของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2559

เครื่องตรวจวัดมลพิษ

คือ 1.ด่านศุลกากรช่องเม็กรถยนต์ไทยระบายมลพิษเกินมาตรฐานร้อยละ 9.8รถยนต์ประเทศเพื่อนบ้านระบาย มลพิษเกินมาตรฐานร้อยละ 14.3 2.ด่านศุลกากรแม่สายรถยนต์ไทยระบายมลพิษเกินมาตรฐานร้อยละ 24 รถยนต์ประเทศเพื่อนบ้านระบาย มลพิษเกินมาตรฐานร้อยละ 42.9 และ3.ด่านศุลกากรปาดังเบซาร์รถยนต์ไทยระบายมลพิษเกินมาตรฐานร้อยละ 24.2 รถยนต์ประเทศเพื่อนบ้าน ระบายมลพิษเกินมาตรฐานร้อยละ 31.5 ซึ่งสรุปได้ว่าการระบายมลพิษจากยานพาหนะของประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่าประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 4.5 ร้อยละ 18.9 และร้อยละ 7.3 ตามลําดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน