แพทย์แผนไทยฯ แจงชัด อังกาบหนู รักษามะเร็งไม่ได้ ย้ำใช้มากเป็นหมัน-สเปิร์มลด

อังกาบหนู / เมื่อวันที่ 23 สค.ค. ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ขวัญชัย นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ แถลงข่าวสรรพคุณสมุนไพร “อังกาบหนู” ว่า ในการใช้อังกาบหนูรักษามะเร็งนั้น ข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ารักษาได้

มีเพียงกระแสข่าวที่บอกว่าชาวบ้านที่จ.สุโขทัย รับประทานแล้วหายจากมะเร็ง 5–13 คน ตอนนี้อยู่ระหว่างส่งเจ้าหน้าที่แพทย์แผนไทย ลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ป่วยในพื้นที่ว่ามีอยู่กี่คน ป่วยมะเร็งที่อวัยวะใด ระยะที่เท่าไหร่ รักษาหายจริงหรือไม่ มีผลการตรวจรักษาจากแพทย์ยืนยันหรือไม่

เพราะบางครั้งเราพบว่าประชาชนมีความเข้าใจผิดว่าตัวเองเป็นมะเร็งแต่ที่จริงไม่ได้เป็น ทั้งนี้หากพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก็จะมีการรวบรวมข้อมูลกลับมาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาว่าจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร พร้อมทั้งจะเชิญหมอพื้นบ้านที่ใช้อังกาบหนูในการรักษาโรคมานั่งคุยข้อมูลเรื่องนี้กันด้วย แต่ต้องเรียนว่า ในการศึกษาสมุนไพรรักษามะเร็งต้องใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพราะต้องศึกษาทั้งในสัตว์ ในคน ต้องมีการเก็บข้อมูลจริงจากผู้ป่วย

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

นพ.ขวัญชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อังกาบหนูเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์อยู่มาก มีรสเย็นและรสเบื่อเมา มีความเป็นพิษเล็กน้อย ในเรื่องความคล้ายกับฤทธิ์ของเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามในตำรับยามะเร็งหลายตำรับมีการใช้สมุนไพรที่มีรสเบื่อเมามาเป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู ซึ่งก็มีรสเบื่อเมา

ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้วิจัยสมุนไพรรักษามะเร็งอยู่หลายตำรับ เช่น ตำรับวัดคำประมง ที่มีข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู จากการศึกษาพบว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ แต่ก็ฆ่าเซลล์ร่างกายที่ดีๆ เช่นกัน ดังนั้นถึงต้องเอามาทำเป็นตำรับที่มีสมุนไพรกว่า 25 ตัว ก็พบว่าสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดี ฆ่าเซลล์ร่างกายน้อยลง ตรงนี้เป็นภูมิปัญญาที่ใช้ฤทธิ์ของสมุนไพรตัวหนึ่งไปแก้พิษของสมุนไพรอีกตัวหนึ่ง

“อย่างไรก็ตาม เรื่องการวิจัยรักษามะเร็งของแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนตะวันตกจะมีความแตกต่างกัน โดยแพทย์แผนตะวันตกจะมองเรื่องสารสกัดสำคัญว่ามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้หรือไม่ได้ ในขณะที่แพทย์แผนไทยจะใช้เพื่อปรับสมดุลธาตต่างๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อร่างกายมีความสมดุลปกติ ก็จะมีภูมิต้านทานโรคที่ดี เม็ดเลือดขาวดี เอ็นไซม์ดี ซึ่งหากภูมิคุ้มกันร่างกายดีก็จะสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เพราะฉะนั้นการที่วิจัยไม่พบการยับยั้ยงเซลล์มะเร็งได้ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาไม่ได้” นพ.ขวัญชัย กล่าว

ต้นอังกาบหนู

ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า จากข้อมูลความเป็นพิษของอังกาบหนูนั้น ซึ่งเคยศึกษาทั้งในสารสกัดน้ำมัน และในน้ำ และทดลองในหนู ไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นขอให้สบายใจได้ หรืออีกกรณีมีการศึกษาพบว่ารากของต้นอังกาบหนู หากกินมากมีผลทำให้สเปิร์มลดลง อาจทำให้เป็นหมัน

อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรต่างๆ ต้องมีความรู้ และใช้ให้ถูก อย่างอังกาบหนูนั้นมีความสามารถในการแก้อักเสบ รักษาแผลเปื่อยต่างๆ เช่น ถ้าต้มกินก็ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงริดสีดวง เป็นต้น หรือต้มดื่มเป็นชาแก้หวัด ไอ เจ็บคอโดยใช้อังกาบหนูประมาณ 30 กรัมต้มหม้อเล็ก ดื่มวันละ 3 แก้ว แต่ไม่ควรดื่มติดต่อกันระยะเวลานาน อย่างไรก็ตามทางรพ.อภัยภูเบศร เล็งศึกษาเป็นเจลรักษาแผลที่เกิดจากโรคมือ เท้า ปาก แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน