รวมตัว เรียกร้องถูก ไล่ที่ ทำกินมา 20 ปี วอน ผู้ว่าฯอุบล พิจารณากำหนดความชัดเจน

ไล่ที่ – วันที่ 3 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาประชาคมบ้านห้วยเดื่อ ม.7 ต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี นายช่วน จันทร์สมาน อดีตกำนัน ต.โนนก่อ พร้อมชาวบ้านในต.ช่องเม็ก และต.โนนก่อ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี รวมตัวกันกว่า 100 คน เพื่อกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหวในการต่อสู้เรียกร้องทวงคืนที่ดินทำกินของตนเอง ที่รัฐบาลประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน จ.อุบลราชธานี แล้วชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ออกจากที่ทำกินของตนเอง ที่อยู่มาก่อนการประกาศเป็นป่าของรัฐ

นายช่วน กล่าวว่า ชาวบ้านกว่า 100 ครอบครัว ได้รับผลกระทบถูกไล่ออกจากที่ดินของตนเองมาตั้งแต่ปี 2519 หลังจากรัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติห้วยยอดมน และอนุญาตให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. (สวนป่าพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี) ใช้ประโยชน์เพื่อการทำไม้ปลูกต้นไม้ยูคาลิปตัส ทับที่ทำกิน จนชาวบ้านไม่มีที่ทำกินบางครอบครัวต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งในปี 2540 ชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นให้รัฐบาลในขณะนั้นแก้ไขปัญหาแต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน

ไล่ที่

ชาวบ้านรวมตัวประชุมความคืบหน้า

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2561 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พึ่งได้ลงนามคำสั่งที่ 375/2561 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา กรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยยอดมน จ.อุบลราชธานี (สวนป่าพิบูลมังสาหาร) โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานอนุกรรมการ และมีตัวแทนชาวบ้านร่วมเป็นคณะอนุกรรมการด้วย ซึ่งถือเป็นข่าวดีของชาวบ้านที่กระบวนการแก้ไขปัญหาจะสามารถดำเนินการต่อได้ โดยชาวบ้านจะต้องได้ร่วมหารือกับนายศักดา กาญจนเสน ประธานสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน หรือ สกอ. เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน ก่อนที่จะเดินทางไปยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเร่งให้มีการประชุมแก้ปัญหาต่อไป หลังล่าช้ามานานกว่า 20 ปี

ไล่ที่

ชาวบ้านรวมตัวประชุมความคืบหน้า

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการชุดนี้ มีทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1.)มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีราษฎรได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยยอดมน 2.)เชิญผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบพิจารณาการแก้ไขปัญหา 3.)แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมาย 4.)ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรมอบหมาย และ 5.)รายงานผลการดำเนินงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการประสานงานแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของสมัชชาเกษตรทราบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน