เลขาธิการ ป.ป.ส. นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในศูนย์ฟื้นฟูฯ จ.สุราษฎร์ธานี พบมีการแพร่ระบาดยาเสพติดระดับรุนแรง เผยช่วงงานฟูลมูนมีนักท่องเที่ยวร่วมงานเกือบ 60,000 คน

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกองบิน 7 (ศฟฟ.บน.7) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี นายประเวศ ไทยประยูร รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี และ น.อ.อนุรักษ์ รมณารักษ์ มีผู้บังคับการกองบิน 7 ในฐานะ ผอ.ศฟฟ.บน.7 ให้การต้อนรับและพาเยี่ยมชมผลงานของผู้ฟื้นฟูยาเสพติด

นายประเวศ กล่าวว่า จ.สุราษฎร์ธานี มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดระดับรุนแรงของทางภาคใต้ตอนบน เนื่องจากเป็นพื้นที่กึ่งกลางและมีขนาดกว้างมากที่สุดของภาคใต้ รวมถึงมีอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และแหล่งท่องเที่ยว จึงได้มีการแบ่งงานดูแลปัญหายาเสพติด 3 ส่วน คือ เมือง ที่เน้นกลุ่มแรงงานชั้นล่าง ชนบท ที่เน้นกลุ่มเยาวชน และแหล่งท่องเที่ยว เน้นนักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้ที่มีอาชีพบริการ

เลขาธิการ ป.ป.ส. นำสื่อลงพื้นที่ดูงานแก้ปัญหายาเสพติดที่จ.สุราษฎร์ธานี

เลขาธิการ ป.ป.ส. นำสื่อลงพื้นที่ดูงานแก้ปัญหายาเสพติดที่จ.สุราษฎร์ธานี

นายประเวศ กล่าวต่อว่า ซึ่งหากอยู่ในช่วงปาร์ตี้ฟูลมูน จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมงานกว่า 30,000-60,000 คน ทั้งนี้ จึงได้มีการตั้งด่านตรวจยาเสพติดและอาวุธก่อนเข้าพื้นที่ และใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตรวจความเรียบร้อย ทำให้ไม่มีปัญหาเสพยาและมั่วเซ็กในบริเวณจัดงานอย่างโจ่งแจ้งเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้สถานการณ์ยาเสพติดดีขึ้น

ด้าน น.อ.อนุรักษ์ เปิดเผยว่า สำหรับการบำบัดผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด ศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดพ.ศ. 2545 ให้ถือว่าผู้ติดยาเสพติดสมองเป็นผู้ป่วย จึงให้ชะลอการฟ้องคดี แต่ต้องจัดให้เข้าไปอยู่ในสถานที่บำบัดยาเสพติด เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล ทางกองทัพอากาศจึงจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูนี้ ประเภทบังคับบำบัดแบบควบคุมตัวเข้มงวดนี้ขึ้นมา ผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดครั้งที่1 จะได้รับการบำบัด 120 วัน หากกระทำผิดซ้ำครั้งที่ 2 จะเพิ่มการบำบัดเป็น 7 เดือน และครั้งที่ 3 จำนวน 1 ปี 8 เดือน

น.อ.อนุรักษ์ กล่าวต่อว่า โดยปัจจุบันพบว่าร้อยละ 95 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูสามารถเลิกเสพยาเสพติดและไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งทางศูนย์จะมีการติดตามประเมินผลหลังผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูที่กลับไปอยู่ที่บ้าน โดยจะให้มารายงานตัวและตรวจปัสสาวะทุกๆ 1 เดือน และติดตามดำเนินการผลฟื้นฟูอย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันเหลือผู้ฟื้นฟูเพียง 11 คนเท่านั้น

เลขาธิการ ป.ป.ส. นำสื่อลงพื้นที่ดูงานแก้ปัญหายาเสพติดที่จ.สุราษฎร์ธานี

เลขาธิการ ป.ป.ส. นำสื่อลงพื้นที่ดูงานแก้ปัญหายาเสพติดที่จ.สุราษฎร์ธานี

ขณะที่ นายศิรินทร์ยา กล่าวว่า จ.สุราษฎร์ธานี มียาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนแพร่ระบาดในแหล่งชุมชน แต่ที่นี่จะไม่มีแหล่งผลิตยา ในส่วนของนักท่องเที่ยวจะแพร่ระบาดประเภทกัญชาและไอซ์ ซึ่งทางจังหวัดจึงร่วมกันปราบปรามและสร้างการรับรู้ว่า การมาเที่ยวจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่จำเป็นต้องเสพยา แต่ก็สามารถท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติได้ รวมถึงกำชับผู้ประกอบการว่าห้ามมีการจำหน่ายยาเสพติดเด็ดอย่างเด็ดขาด ซึ่งมาตรการการปราบปรามนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวแต่อย่างใด

ด้าน นายกล้วย (นามสมมุติ) อายุ 24 ปี ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัด เปิดเผยว่า เมื่อ 4 ปีก่อนเคยเข้ารับการบำบัดแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ต้องเข้าบำบัด 7 เดือน โดยวันนี้เป็นวันที่ 186 วัน ซึ่งได้ทั้งความรู้เรื่องวิชาการ เช่น เรื่องโทษของยาเสพติดเป็นอย่างไร รวมถึงได้ฝึกอาชีพอาชีวะบำบัด ที่มีสอนหลากหลาย ทั้งทำผลิตภัณฑ์จากใบลาน ผักตบ ลูกปาล์ม

นายกล้วย กล่าวต่อว่า สาเหตุที่กลับไปเสพยาครั้งที่ 2 เนื่องจากครั้งแรกในตอนนั้นยังเด็ก คิดไม่ได้ ซึ่งปัจจุบัน สามารถช่วยให้มีสติมากขึ้น คิดอะไรได้หลายอย่าง หากออกไปครั้งนี้ จะตั้งใจประกอบอาชีพสุจริต ช่วยงานครอบครัวพร้อมฝากไปถึงผู้ที่ติดยาว่าอยากให้เลิกเพราะมีแต่ให้โทษ ทำให้ครอบครัวแตกแยก เงินหามาได้เท่าไหร่ก็หมดไปกับยาเสพติดมากเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน