ตะลึง! พบบันทึก สงครามโลก ยุค จอมพลป. ล้ำค่ายิ่งกว่ามหาสมบัติ

วันที่ 19 ต.ค. ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติจันทบุรี ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี นางสุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ กล่าวถึงกรณีที่โซเชียลมีการเผยแพร่ การพบเอกสารเก่า บันทึกเหตุการณ์ สงครามโลก ครั้งที่ 1 และ 2 รวมทั้งช่วง สงครามเย็น ตลอดจนหนังสือบันทึกทะเบียน ชื่อ-สกุล บรรพบุรุษชนชาวหัวเมืองจันทบูร อยู่ใต้ถุนอาคาศาลากลางจังหวัดหลังเก่า

โดยทางหอจดหมายเหตุ ได้นำเสนอ หลักฐานข้อมูลต่อกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็น มกรดกความทรงจำระดับท้องถิ่น และหวังผลักดันเป็น มรดกความทรงจำโลก หรือ Memory of the World นางสุมลฑริกาญจณ์ กล่าวว่า การพบเอกสารเก่า บันทึกเหตุการณ์สงครามโลก ในสื่อโซเชียลเป็นเรื่องจริง เอกสารบันทึกตัวจริงยังคงถูกเก็บรักษาไว้ ภายในห้องที่มีการปรับอุณหภูมิเป็นอย่างดี

นางสุมลฑริกาญจณ์ กล่าวอีกว่า การค้นพบครั้งนี้ เป็นความบังเอิญ ในขณะที่เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ ได้เข้าไปตรวจสอบ เพื่อดำเนินการขนย้าย คัดแยก พร้อมทั้งประเมินคุณค่าความสำคัญของเอกสารต่างๆ ภายใต้ถุนอาคารศาลากลางหลังเก่า ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2459 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หรือเรียกว่า ศาลาว่าการมณฑล จ.จันทบุรี ซึ่งต่อมา ได้มีการบำรุง ซ่อมแซมจนกลายเป็นอาคารหอจดหมายเหตุ จันทบุรี ในปัจจุบัน

บันทึกสงครามโลก ครั้งที่ 1 และ 2

ขณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการตรวจสอบ พบกับ เอกสารเก่าบันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อยู่ภายในใต้ถุนอาคาร รวมถึงหนังสือทะเบียน ชื่อ-สกุล บรรพบุรุษ จำนวน 3 เล่ม ที่โผล่ออกมาจากฐานจอมปลวกใต้ถุนอาคาร การค้นพบเอกสารสำคัญในครั้งนี้ เป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่สุดในชีวิตเหมือนกับเจอกรุมหาสมบัติ ที่ได้มีโอกาสค้นพบทรัพย์สมบัติ อันเป็นมรดกของชาติ ที่รวบรวมไว้ใต้ถุนอาคาร เอกสาร

สำหรับ เนื้อหาเอกสารที่พบ โดยสรุปเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระดับโลก หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เป็นเอกสารของส่วนราชการไทยและเอกสารบันทึกจากต่างประเทศ อายุเฉลี่ย 100 ปี ระหว่าง พ.ศ.2449-2522

เป็นเอกสารเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 6 ส่งทหารร่วมรบ โดยมีทหารอาสาชาวจันทบุรี ร่วมสงครามด้วย เป็นการตอบโต้ระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับ จ.จันทบุรี ในช่วงจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหนังสือเวียนสอบถามรายชื่อทหารที่ยังมีชีวิตอยู่

ส่วนเอกสารชุดถัดมาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่ฝรั่งเศสทิ้งระเบิด ที่ อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.ท่าใหม่ สร้างความเสียให้บ้านเรือน และเอกสารชุดถัดมาพูดถึงสงครามเย็น

ทำให้รู้สภาวการณ์บ้านเมืองยุคข้าวยากหมากแพง ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างไทย เขมร ขณะเดียวกันยุคนี้คนไทยยังเริ่มมีการจดทะเบียนนามสกุลของชาว จ.จันทบุรี จำนวน 3 เล่ม แยกเป็นหมวดหมู่ ก-ฮ รวมประมาณ 6,000 กว่านามสกุล

โดยมีการตั้งนามสกุลสะท้อนสภาพภูมิศาสตร์ อาทิ นามสกุล ริมคีรี , หนองบัวแดง ,หนองบัวขาว โดย นามสกุลแรก จดเมื่อปี 2457 ชื่อสกุล “กาญจนกิจ” รวมถึงทำให้ทราบว่า มีชุมชนญวนตะวันตก และ ญวนตะวันออก มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จันทบุรี จำนวนมาก อาทิ อาทิ อันนัม , อานามวัฒน์ และ อานามนารถ เป็นต้น

นอกจากนั้นยังมีเอกสารเก่า ที่เกี่ยวข้องกับการทำพลอยเมืองจันทบุรี เริ่มจากชาวกุลา เข้ามาอาศัยในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้ทำบ่อพลอย นำมาสู่การเป็นแหล่งค้าพลอยเมืองจันท์ ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของจังหวัดจนถึงปัจจุบัน

ยกระดับมรดกความจำโลก

ภายหลังจากการค้นพบในครั้งนี้ ทางหอจดหมายเหตุ ได้นำข้อมูลตลอดจนหลักฐาน รายงานและเสนอต่อทาง กรมศิลปากร ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดก ความทรงจำโลกของประเทศไทย ต่อคณะกรรมการ ซึ่งขณะนี้ในส่วนเอกสารเก่าที่ค้นพบ ได้ขึ้นเป็นทะเบียนเป็น มรดกความทรงจำ ระดับท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ ให้ทาง หอจดหมายเหตุ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อที่จะยกระดับให้เป็น มรดกความทรงจำโลกของประเทศไทย

สำหรับ มรดกความทรงจำโลก หรือ Memory of the World คือมรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ Documentary Heritage ซึ่งเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบและผลงานของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตให้กับสังคมปัจจุบัน เพื่อที่จะสืบสานให้แก่สังคมในอนาคต โดยอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งนานาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)

ทางหอจดหมายเหตุ และชาวจันทบุรี คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารเก่าบันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 รวมถึงหนังสือทะเบียน ชื่อ-สกุล บรรพบุรุษ ซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกแห่งความทรงจำ ระดับท้องถิ่น จะสามารถยกระดับขึ้นเป็น “ มรดกความทรงจำโลกชิ้นที่ 6 ” ของแดนสยามได้หรือไม่

นางสุมลฑริกาญจณ์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ขณะนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี ได้งบประมาณจากกรมศิลปากร มาดำเนินการสแกนเอกสารสำคัญดังกล่าว ให้เป็นไฟล์ดิจิตอล เพื่อเป็นการอนุรักษ์และให้บริการ ในการศึกษาค้นคว้า โดยขณะนี้สามารถสืบค้นได้แล้วกว่า 5,000 รายการ จากข้อมูลที่มีทั้งหมดหลายหมื่นรายการ

อย่างไรก็ตามเอกสารต้นฉบับ ประชาชนทั่วไป สามารถมาเยี่ยมชม ศึกษาค้นคว้าได้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี โดยไม่เสียค่าเข้าชม จะเปิดทำการ ตามวันและเวลาราชการ ตั้งแต่ วันจันทร์ ถึง วันศุกร์ เวลาเปิดทำการ 08.30 ถึง 16.30 น. ติดต่อสอบถามได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 03932 4685

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน