บุกพิสูจน์ศาลแปลก! รูปปั้นตาเมฆ-ยายหมอก เปลือยกายมีเพศสัมพันธ์

วันที่ 25 ต.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งมีศาลแปลก มีรูปปั้นตากับยายเปลือยกายกำลังมีเพศสัมพันธ์กัน ตั้งอยู่ริมถนนสายบางสะแก-โคกงูเห่า ทางเข้าหมู่บ้านบางสะแก หมู่ 3 ต.บางตะเคียน อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี จึงเดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง

เมื่อไปถึงพบเป็นศาลไม้หน้าจั่วทรงไทย เขียนป้ายชื่อ “ศาลตาเมฆ ยายหมอก” ภายในมีหุ่นรูปปั้นตากับยายเปลือยกายกำลังมีเพศสัมพันธ์กัน ตั้งอยู่ริมถนนทางเข้าหมู่บ้าน โดยเรื่องนี้ นายกำพล ลีวานันท์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เปิดเผยว่า เรื่องนี้เป็นความเชื่อของชาวบ้าน และความศักดิ์สิทธิ์ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน ที่ผ่านมามีเรื่องปาฎิหารย์ต่างๆมากมาย ใครผ่านไปมาแถวนี้ก็ต้องยกมือไหว้ขอขมา และก็เป็นประเพณีสืบทอดกันมา ยาวนานแล้ว

“เรื่องนี้เป็นความศรัทธาของคนในชุมชน จึงไม่มีใครกล้าลบหลู่ ผมในฐานะผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านก็ถือว่า ศาลแห่งนี้คือศูนย์รวมใจของชาวบ้าน แต่ก่อนรูปปั้นนี้ถูกวางทิ้งไว้ ด้านนอกไ ม่ได้ขึ้นมาอยู่บนศาล เนื่องจากศาลยังไม่ได้บูรณะซ่อมแซมจากการชำรุด พอชาวบ้านร่วมใจกันซ่อมแซมก็ได้ทำพิธีนำรูปปั้นตาเมฆกะยายหมอก ขึ้นมาไว้ที่ศาลไม้เพื่อให้ชาวบ้านได้มาไหว้ตามความเชื่อ ชาวบ้านที่นี่จึงมองว่า เรื่องรูปปั้นนั้นไม่ได้อนาจารหรือลามกแต่อย่างใด เพราะถือเป็นเรื่องปกติของความเชื่อศรัทธาของชุมชนที่นี่ที่สืบทอดกันมายาวนานแล้ว”

ด้านนายดำรงค์ ชูก้าน อายุ 61 ปี กรรมการศาลแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า รูปปั้นตาเมฆ ยายหมอก ที่อยู่ในสภาพเปลือยลักษณะเหมือนมีเพศสัมพันธ์กันอยู่นั้น ขอชี้แจงว่า รูปปั้นตาเมฆ ยายหมอกเป็นรูปปั้นที่ใช้ในประเพณีท้องถิ่น ที่แห่คู่พร้อมกับประเพณีการแห่นางแมวขอฝนมานานกว่า 50-60 ปีแล้ว เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้านในชุมชนในการขอฟ้า ขอฝน จากเทวดา ในยามฤดูแล้งไม่มีน้ำทำนา ปลูกข้าว คนรุ่นเก่าในสมัยก่อน จึงได้ปั้นรูป ตาเมฆ ยายหมอก ในสภาพเปลือยกายมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นความเชื่อ เป็นประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่บรรพบุรุษถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น

“ชาวบ้านบางสะแก จึงถือว่า ไม่น่าจะเป็นการสื่อสารไปทางลามกอนาจาร ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กก็ยังพอจำความได้ว่า ปั้นรูป ตาเมฆ ยายหมอก ชาวบ้านจะช่วยกันปั้นด้วยดินเหนียว เพื่อใช้ในพิธีแห่นางแมว ขอฝน จากนั้นก็จะช่วยกันโยนลงไปในคลอง จนกระทั่งมีนายเล็ก ช่างปั้นพระอยู่ที่วัดไผ่โรงวัวได้แต่งงานกับสาวในหมู่บ้าน เห็นว่าต้องปั้นรูปตาเมฆ ยายหมอก ด้วยดินเหนียวทุกปี จึงได้อาสาใช้ปูนซีเมนต์ปั้นเป็นรูปตาเมฆ ยายหมอก เพื่อใช้เป็นการถาวรมายาวนานกว่า 30 ปีแล้ว”

นายดำรงค์ กล่าวต่อว่า ช่วงแรกๆปลูกเป็นเพิงพักสังกะสีเก็บรักษาปั้นรูปตาเมฆ ยายหมอก ต่อมาได้มีชาวบ้านมาขอโชคลาภ ขอเลขเด็ด บนบานศาลกล่าวสำเร็จสมความปรารถนา จึงได้มีการแปรสภาพมาตลอด จนกระทั่งเป็นศาลไม้หน้าจั่วทรงไทย ภายใน 1 ปี และชาวบ้านก็ได้ร่วมกันสร้าง ศาลาอนเกประสงค์ไว้ด้านข้าง เอาไว้ประชุมงานในหมู่บ้าน และจะมีงานประจำปี 2 ครั้ง

งานใหญ่ ครั้งแรกในวันที่ 12 เม.ย.ก่อนวันสงกรานต์ และวันออกพรรษาของทุกปี มีการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ 9 รูป ในบางปีก็จะมีชาวบ้านนำมโหรสพมาแก้บนเช่น ภาพยนตร์ และลิเก ส่วนชาวบ้านที่นำมาแก้บนหรือถวายก็มีทั้งพวงมาลัย น้ำแดง ตามความเชื่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน