สภาสตรี ต้อนรับองค์กรสตรีรัฐซาบาห์ มาเลเซีย หารือแนวทางการทำงานพัฒนาสตรีและเด็กร่วมกันในอนาคต สนใจสินค้าโอท็อป-ผ้าไทยของศูนย์ศิลปาชีพเป็นพิเศษ

สภาสตรี – เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธาน สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหาร พล.ร.ต.หญิง ศรีศุภรณ์ รุธิรวัฒน์ เลขาธิการ สภาสตรีฯ นางศรีวรรณ สายฟ้า นายกสมาคมสตรีไทยมุสลิมแห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการสภาสตรีฯ ร่วมต้อนรับ ดาตุก์ ดร.ฮาจาห์ ทาเซีย ทามาน ประธานคณะสภาสตรีแห่งรัฐซาบาห์ (SWAC) ประเทศมาเลเซีย พร้อมทั้ง มาดาม ฮาจาห์ บัยยาห์ มาห์มอน ประธานคณะกรรมการด้านบทบาททางสังคม และคณะ ในโอกาสเข้าหารือถึงการทำงานร่วมกันในอนาคต ที่บ้านมนังคศิลา ถนนหลานหลวง

ดร.วันดี เปิดเผยภายหลังหารือว่า องค์กรสตรีของรัฐซาบาห์ มาเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการองค์กรสตรีของสภาสตรีแห่งชาติฯ ในการพัฒนาสตรีและเด็ก เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาในรัฐซาบาห์รูปแบบเดียวกัน เพราะรัฐซาบาห์มีองค์กรสตรี 120 องค์กร ขณะที่สภาสตรีฯมี 211 องค์กร องค์กรสตรีของมาเลเซียทำงานเหมือนเป็นเอ็นจีโอ แต่สื่อสารกับรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือสตรีและเด็กจึงเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่า ทั้งสององค์กรจะทำงานร่วมกันในอนาคต เพื่อพัฒนาบทบาทสตรีของสองประเทศให้มีความก้าวหน้า

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกันในหลายมิติโดยเฉพาะความร่วมมือในการช่วยเหลือสตรี ซึ่งมีรูปแบบการช่วยเหลือคล้ายกันคือ ให้ความช่วยเหลือและสร้างความมั่นคงให้กับสตรีและเด็ก ซึ่งการมาวันนี้ขององค์กรสตรีรัฐซาบาห์ได้ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์โอท็อปของไทยเป็นพิเศษ เนื่องจากเขาเห็นการพัฒนาโอท็อปสินค้าชุมชนของไทยประสบความสำเร็จมาก เป็นที่ขึ้นชื่อไปในประเทศอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เขาจึงขอมาดูมาเรียนรู้ว่า รัฐบาลไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปภาคประชาชนอย่างไรจึงประสบความสำเร็จ มียอดขายในแต่ละปีจำนวนมาก ที่สำคัญได้สร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ชนบท ซึ่งในรัฐซาบาห์ก็มีอาชีพลักษณะนี้เช่นกัน จึงมาขอดูรายละเอียด ทางสภาสตรีฯจึงพาไปดูศูนย์โอท็อปของกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ

ดร.วันดี กล่าวว่า องค์กรสตรีของรัฐซาบาห์ยังให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องจากได้ยินชื่อเสียงมานานเขาสอบถามด้วยความสนใจ

นอกจากนั้น ได้มีการหารือกันว่าจะนำสินค้าขององค์กรสตรีของสองประเทศไปจัดแสดง เพื่อให้องค์กรสตรีของสองประเทศ ได้รู้จักสินค้าของกันและกัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางภาคใต้ของไทย เช่น เสื่อกระจูด หรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้หญิงในภาคใต้ที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ไปจัดแสดงในรัฐซาบา เพื่อเผยแพร่สินค้า และช่วยเหลือผู้หญิงที่สูญเสียอีกทางหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน