ชาวเลราไวย์ ปัดข้อเสนอเอกชน เผยชาวบ้านถูกฟ้อง 27 คดี นักกฎหมายแนะทางออก

ชาวเลราไวย์ – เมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและตัวแทนชาวเลชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านเดินทางไปประชุมร่วมกับตัวแทนของบริษัทบารอน เพื่อเจรจาถึงข้อพิพาทเรื่องที่ดินโดยทางตัวแทนบริษัทบารอน เวิล์ดเทรด จำกัด ได้ยื่นข้อเสนอที่จะทำโครงการพัฒนาชุมชนโดยซื้อที่ดิน 2 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้าน 30 หลังอาศัยอยู่ในชุมชน ที่ติดกับที่ดินบริษัทบารอนอ้างกรรมสิทธิ์ และที่ผืนดังกล่าวมีข้อพิพาทกับเอกชนอีกรายหนึ่งที่อ้างกรรมสิทธิ์ โดยบริษัทบารอนขอแลกกับการย้ายบาไลมาไว้ในที่ดิน 2 ไร่ นี้พร้อมทั้งขอเส้นทางสาธารณะหน้าหาดที่ชาวบ้านใช้เดินไปสู่บาไล

นายนิรันดร์ กล่าวว่า นอกจากนี้บริษัทบารอนยังยื่นข้อเสนอที่จะให้เงินสนับสนุนจัดตั้งกองทุนของชุมชนอีก 5 แสนบาท และซื้อรถเก็บขยะและรถพยาบาลให้อีกอย่างละ 1 คัน นอกจากนี้ยังจ่ายค่าหลักจอดเรือบริเวณหาดทรายให้อีกหลักละ3 หมื่นบาท เพื่อแลกกับการย้ายพื้นที่จอดเรือออกมาจากบริเวณหน้าหาดในที่ดินที่บริษัทอ้างกรรมสิทธิ์ อย่างไรก็ตามภายหลังจากได้มีการจัดประชุมชาวบ้านเพื่อพิจารณาข้อเสนอ ที่ประชุมมีมติไม่รับข้อเสนอดังกล่าว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ยังต้องการเส้นทางสาธารณะที่เดินไปสู่บาไล และไม่ต้องการให้มีการย้ายบาไลไปไว้ที่อื่น

“ชาวบ้านบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ารับไม่ได้ที่จะต้องย้ายบาไล และไม่เอาด้วยกับโครงการที่บารอนเสนอมา พวกเราพร้อมสู้คดีกันในศาลต่อไป แต่ได้ยินว่าเขาจะชวนชาวบ้านไปเจรจาอีกครั้งโดยมีนายกเทศมนตรีราไวย์ร่วมด้วย” นายนิรันดร์ กล่าว

ด้านนายสนิท แซ่ซั่ว ผู้ประสานงานชาวเลชุมชนราไวย์กล่าวว่า ขณะที่มีคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องและเป็นผู้ฟ้องอยู่ทั้งหมด 27 คดี ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องที่ดิน มีเพียง 2 คดีที่เป็นเรื่องแผงขายปลาหน้าหาดถูกเอกชนอ้างกรรมสิทธิ์และขับไล่ และคดีชาวบ้านถูกจับเนื่องจากออกไปหาปลาแต่ถูกตั้งข้อหาว่าจับปลาในเขตหวงห้าม ส่วนคดีที่ดินนั้นศาลฎีกาได้พิพากษาไปแล้ว 2 คดี 9 รายโดยชาวบ้านแพ้เพราะไปจ่ายค่าเช่าให้กับผู้อ้างกรรมสิทธิ์เนื่องจากไม่รู้หนังสือ แต่กรณีที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอีกหลายครอบครัวเพราะที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นเส้นทางเข้า-ออกของหลายบ้าน

ขณะที่นางสมพอง แซซั่ว แม่ค้าปลาชาวอูรักลาโว๊ย ที่ถูกฟ้องขับไล่ กล่าวว่า ตนขายปลาและหอยให้นักท่องเที่ยวอยู่ที่หาดราไวย์มาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ปัจจุบันอายุ 52 ปี บริเวณที่ขายในอดีตชาวบ้านต่างก็เอาปลามาขายได้ เป็นปลาจากเรือประมงที่สามีและลูกหามา แต่ถ้าได้มากก็ส่งขายพ่อค้าคนกลาง และไม่เคยเสียค่าเช่าแผงให้ใครเพราะเป็นพื้นที่ของชุมชน แต่ปลายปี 2559 มีเอกชนมาเรียกเก็บค่าเช่า โดยอ้างกรรมสิทธิ์บนที่ดินที่ยังมีปัญหากับชาวบ้านซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนนเรียบหาด แม่ค้าที่เป็นคนนอกบางแผงก็ยอมจ่ายค่าเช่า แต่ในส่วนของพวกตนที่มีอยู่ 5 แผงไม่ยอมจ่ายเพราะเราเห็นว่าเป็นที่ดินเดิมที่เราเคยขายมาก่อน

“พวกเราขายกันมานาน จู่ๆ ก็จะมาเก็บค่าเช่า พวกเราที่เป็นแม่ค้าชาวเลทั้ง 5 คนคุยกันแล้วว่าจะไม่ยอม และต้องสู้ มันพื้นที่ที่เราขายกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม ถ้าเรายอมแล้วต่อไปลูกหลานจะเอาพื้นที่ที่ไหนขายปลาที่จับมาได้ ทุกวันนี้เราแทบไม่เหลือที่วางขายปลาอยู่แล้ว เพราะถูกจับจองมีเจ้าของหมด เราได้อาศัยพื้นที่ที่เหลืออยู่ ใครหาปลามาได้ก็มาวางขาย” นางสมพอง กล่าว

ด้านนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัญหาและข้อพิพาทคดีที่ดินของชาวเลชุมชนราไวย์นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบเนื่องจากเจ้าของที่ดินเดิมอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองโดยมิชอบ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) คณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินรัฐ(กบร.)และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้ลงไปตรวจสอบและมีข้อเสนอถึงรัฐบาลหมดแล้ว เพียงแต่รัฐบาลไม่ยอมแก้ไขเพราะหน่วยงานรัฐคือกรมที่ดินมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกเอกสารโฉนดมิชอบ

“พูดง่ายๆคือมีการทุจริตคอรัปชั่นกันในพื้นที่ ปัญหาแบบนี้ ผมคิดว่ารัฐบาลจะใช้ระบบราชการในการแก้ปัญหาแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป เพราะ ไม่ควรให้ผู้ที่ออกเอกสารสิทธิ์ ผู้ที่ตรวจสอบและผู้ที่เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นคนๆ เดียวกัน ควรต้องรีบแก้กฏหมายประมวลที่ดิน เพราะมิเช่นนั้นชาวบ้านมากมายที่กำลังเดือนร้อนจะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ท้ายสุดเรื่องก็ไปจบลงที่ศาล และศาลก็พิจารณาแต่ในเอกสารโดยมิได้ลงเดินสำรวจ” นายคมสัน กล่าว

อนึ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ได้เกิดการประทะกันระหว่างคนงานราว 100 คนของบริษัท บารอนเวิลด์เทรด จำกัด และชาวเลในชุนชนราไวย์ ภายหลังจากที่บริษับารอนฯนำรถแบ๊กโฮเคลื่อนย้ายก้อนหินมาปิดทางเข้า-ออกเส้นทางที่ชาวราไวย์ใช้เดินไปประกอบพิธีกรรมที่บาไล โดยบริษัทบารอนฯ อ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินบริเวณดังกล่าวและเตรียมพัฒนาให้เป็นโรงแรม แต่ชาวบ้านยืนยันว่าเป็นเส้นทางสาธารณะของชุมชนที่ใช้กันมานาน ซึ่งทุกวันนี้ข้อพิพาทดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน