เครือข่ายชาวบ้าน ซัดรบ.แก้ปัญหาที่ดินเหลว เศร้าคนจนถูกฟ้องไล่ที่ แต่คนรวยได้โฉนดหมื่นไร่

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่หอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร ร่วมกันจัดกิจกรรมมหกรรมโฉนดชุมชน “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” ในงานมีทั้งการเวทีเสวนา การปาฐกถา การออกร้านสินค้าของชุมชน รวมทั้งการแสดงดนตรี โดยในการเสวนาเรื่อง “สังคมไทยจะก้าวพ้นความเหลื่อมล้ำ สู่ความเป็นธรรมในที่ดินอย่างยั่งยืนได้อย่างไร”

มีวิทยากรประกอบด้วย นางสุนีย์ ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา นักวิชาการจากม.ธรรมศาสตร์ และนางหนูเดือน แก้วบัวขาว ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)

นางหนูเดือน กล่าวว่า แม้รัฐบาลมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ แต่ปัญหาในภาพรวมกลับแย่ลง เช่น การแก้ปัญหาของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาสิทธิที่ดิน เพราะการจัดการที่ดินอยู่ที่จังหวัดซึ่งให้สิทธิผู้ว่าราชการจังหวัดตัดสินใจจึงไม่สอดคล้องสิทธิในการใช้ประโยชน์ของชุมชน

เมื่อชาวบ้านอยากพัฒนาที่ทำกินก็ต้องขออนุญาตผู้ว่าฯ ชาวบ้านจึงต้องการเปลี่ยนการจัดการแก้ปัญหาไปเป็นรูปแบบโฉนดชุมชนแทนกลไก คทช. เพราะจะทำให้ชุมชนสามารถจัดการพัฒนาที่ดินได้อย่างยั่งยืน

“ที่ดินไม่ควรเป็นสินค้า พอเป็นสินค้าก็จะมีการฮุบที่ดินของชาวบ้าน นายทุนร่วมมือกับรัฐ เช่น ออกโฉนดให้คนๆ เดียว 1 หมื่นไร่ ชาวบ้านที่ทำกินมานานกลายเป็นผู้ไม่มีที่ดิน นายทุนเอาที่ดินไปเข้าธนาคาร พอได้เงินแล้วก็ถูกฟ้องล้มละลาย ที่ดินถูกขายทอดตลาด คนที่ซื้อต่อไปอย่างถูกต้องก็ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้

เพราะชาวบ้านที่ทำกินอยู่ก็ฟ้องร้องเป็นปัญหา หรือที่ดินที่ชาวบ้านอยู่มาก่อนรัฐ แต่หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(นสล.) ออกทับทีหลัง หรือกรณีประกาศอุทยานทับที่ดินชาวบ้าน ก็ยังเป็นปัญหาที่เราต้องต่อสู้ให้เกิดการยอมรับชาวบ้านที่อยู่มาก่อน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ดิน และไม่มีการบุกรุกเพิ่มเติม”นางหนูเดือน กล่าว

นางหนูเดือน กล่าวต่อว่า ชาวบ้านพยายามผลักดันให้มี พ.ร.บ.โฉนดชุมชน ซึ่งที่ดินยังคงเป็นของรัฐแต่เป็นการให้สิทธิชาวบ้านอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย และชุมชนมีสิทธิในการร่วมกันพัฒนาสร้างประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การนำไปสร้างโรงงานหรือโรงแรม

ชาวบ้านสามารถทำเกษตรอินทรีย์หรือทำกินอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ แนวทางนี้เป็นสิ่งที่พีมูฟพยายามผลักดันมาโดยตลอด แต่รัฐบาลยังไม่สามารถตอบสนองได้เท่าที่ควร ทั้งที่กรณีโฉนดชุมชน รัฐบาลสามารถสั่งการได้ทันที และจะส่งผลให้ชาวบ้าน 2 แสนครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทันที

นางสุนีย์ ไชยรส กล่าวว่า ในสมัย 14 ตุลาคม ในช่วงของการเกิดขึ้นของขบวนการชาวนาชาวไร่ มีหนังสือชื่อว่า ชาวนาถูกบังคับให้จับปืน ระบุสาเหตุสำคัญของการสูญเสียที่ดินว่า เกิดจากราคาเกษตรที่ผันผวน ทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดิน เป็นปัญหาความยากแค้นที่ชาวบ้านถูกทอดทิ้ง รัฐเบียดเบียนชาวนา

การใช้อำนาจเผด็จการขัดขวางกระบวนการแก้ปัญหาตามแนวทางประชาธิปไตย สถานการณ์ปัจุบันยังคงมีความคล้ายคลึงในสมัยนั้น เพราะวันนี้เกิดความเลื่อมล้ำ รัฐปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าลอยตัว นโยบายของรัฐทำให้ความเลื่อมล้ำไม่เคยจางหายไป เช่น กฏหมายภาษีที่ดินที่ไม่เป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

“เราเห็นภาพของปัญหาที่ดินหลายกลุ่ม ที่ดินชาวเล ที่ดินในเขตป่า เขตที่ดินของรัฐอื่นๆ เช่น ทหารมีที่ดิน 10 ล้านไร่ ชาวบ้านต้องเช่าที่จากรัฐ พอมีโครงการขนาดใหญ่ชาวบ้านก็ถูกไล่ ทำให้เกิดความเลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ การจดทะเบียนคนจนปัญหาหลักคือเรื่องที่ดิน กลไกของรัฐไม่เคยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน

อยากชี้ให้เห็นว่าบทเรียนการต่อสู้นั้นเจ็บปวด การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่เหมือนแพ้แล้วแพ้อีก แต่จริงๆ มันคือสู้แล้วสู้อีก ล้มแล้วลุกขึ้นตลอดเวลา เพราะการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดิน คือการต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นคน”นางสุนีย์ กล่าว

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อว่า ขบวนการต่อสู้ของประชาชนต้องยกระดับการเรียกร้องให้เรื่องสิทธิทำกิน สิทธิที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องพื้นฐานสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเพื่อให้รัฐมีหน้าที่แก้ปัญหาและประชาชนสามารถเรียกร้องสิทธิของตนเอง ข้อเรียกร้องสำคัญที่สุด คือรัฐต้องยุติการไล่รื้อและจับกุมชาวบ้านทุกพื้นที่ แล้วย้อนไปดูว่าที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้ามาปัญหาอยู่ตรงไหน

แต่กระบวนการตรวจสอบไปถึงไหน ซ้ำยังมีปัญหาใหม่เกิดขึ้น เช่น กรณีปัญหาการยึดที่ดินไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น และมีสถานการณ์เวนคืนในพื้นที่ใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้น ชาวบ้านจะถูกไล่รื้ออยู่ตลอด มีการจับกุมชาวบ้านจำนวนมาก สถานการณ์จึงยังหนักหน่วง การที่รัฐทำโครงการสารพัดโดยไม่คำนึงสิทธิของชาวบ้านนั้น สะท้อนว่าปัญหาอยู่ที่โครงสร้างระดับนโนบาย ก็ต้องผลักดันให้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วย เพราะถ้ารอแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ด้านเดียวก็จะไม่ทันสถานการณ์

รศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่การต่อรองสิทธิที่ดินของชาวบ้านหดแคบลงไปทุกที โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านไม่สามารถต่อรองกับรัฐบาลได้ในสถานการณ์การปกครองแบบนี้ การแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ประชาชนต้องยอมรับหลักการพื้นฐานของสังคม ที่ต้องการกระจายเรื่องการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เช่น โฉนดชุมชน

สำหรับกรณี คทช.ช่วงต้นมีเจตนาพัฒนาเป็นธนาคารที่ดิน แต่ว่ากองทุนเหล่านี้แม้จะแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของกองทุนมากมาย แต่เป็นลักษณะกองทุนรถดับเพลิง คือพี่น้องไปเรียกร้องก็นำกองทุนนี้มาใช้แก้ปัญหา แต่ธนาคารที่ดินก็ดูเหมือนทำหน้าที่ธนาคารซื้อขายที่ดินทั่วไป

“บทเรียนของสมัชชาคนจนต้องการสร้างการเจรจาแบบเสมอหน้า การพิสูจน์สิทธิต้องฟังชาวบ้าน ปัญหามีความซับซ้อน รัฐเอาที่ป่าโทรมๆ ไปให้เอกชนเช่าปลุกยูคา สนามกอล์ฟในที่ดินทหารเมืองกาญจน์ วิธีคิดการใช้ที่ดินของรัฐเป็นปัญหา ที่ดินเหล่านี้ควรนำมาใช้กับเกษตรกรรายย่อย เพื่อไม่ให้ที่ดินกระจุกตัว ที่ดินของรัฐที่พัฒนาเป็นเขตชลประทานแต่ถูกนำไปใช้ผิดประเภท

รัฐควรคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่จะต้องพูดถึงกฏหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม กองทุนฟื้นฟูที่ดินเกษตรกรรม เพราะตอนนี้มีเกษตรกรกำลังจะถูกยึดที่ดินประมาณ 30 ล้านไร่ เราจะจัดการอย่างไรให้ชุมชนสามารถจัดการที่ดินโดยชุมชน ไม่ใช่เอาอำนาจไปให้ผู้ว่าฯตัดสินใจ ต้องมีการตรวจสอบผลักดันและทบทวนนโยบายด้านที่ดิน”รศ.ดร.ประภาส กล่าว

ด้าน ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า หากมองในเรื่องการแก้ปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในเมือง ดูเหมือนจะดีขึ้น มีการพัฒนาให้คนอยู่กับคูคลอง ซึ่งเป็นรูปธรรมที่รัฐพยายามประชาสัมพันธ์ แต่มีปัญหาอีกจำนวนมากถูกซุกไว้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ดินที่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า กลายเป็นสินทรัยพ์เพื่อการเก็งกำไร สถานการณ์นี้จะทำอย่างไรไม่ให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า แต่ต้องเป็นทรัพยากรที่แจกจ่ายอย่างเป็นธรรม ทั้งที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

ปัจจุบันสังคมไทยยอมรับว่า การศึกษา การรักษาพยายบาลเป็นรัฐสวัสดิการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหา ต้องทำให้สังคมตระหนักว่าที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยต้องเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้วย ไม่ให้มีการเก็งกำไรจากการซื้อขายที่ดิน ลดทอนการกักตุนที่ดิน โดยรัฐอาจใช้วิธีการแทรกแซง เช่นการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เป็นต้น ถ้าลดปัญหาเหล่านี้ได้ ปัญหาอื่นในหลายมิติก็จะลดตามไปด้วย เช่น การบุกรุกใหม่จะไม่เกิด

“ภายใน 10 ปี ถ้าลดการถือครองราคาที่ดินจะไม่สูงขึ้น ก็จะไม่มีการเก็งกำไร ต้องทำให้ที่ดินเป็นสิทธิที่ทุกคนเข้าถึงได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับุกคน ตอนนี้รัฐต้องหยุดไล่รื้อ หยุดการฟ้องร้องที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่เรียกร้องต่อรัฐคือต้องเอากฏหมายวางไว้แล้วเอาข้อเท็จริงมาคุย ต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้แจกแจงข้อเท็จจริง เริ่มจากที่ดินของรัฐที่มีอยู่มากมาย ให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยได้หรือไม่

รัฐต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ได้อย่างถูกกฏหมาย เช่น ชุมชนในที่ดินรถไฟวันนี้ยังไม่มีความมั่นคง ไม่มีสํญญาเช่า ชาวบ้านขอต่อรองทำสัญญาเช่า แต่รถไฟกลับคิดว่าให้เอกชนเช่าได้เงินมหาศาลมากกว่า ต้องให้คุณค่าของที่ดินมากกว่าการให้มูลค่า” ดร.บุญเลิศ กล่าว

ขณะที่ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล กล่าวว่า ถ้ามองเรื่องสิทธิที่ดินให้มีความเป็นธรรม การใช้กฏหมายต้องคำนึงถึงสิทธิการครอบครอง และต้องมีผลย้อนหลังชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เช่น คนกะเหรี่ยง หรือชาวเลอันดามัน

ชาวบ้านเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มคนที่สร้างให้มีประเทศไทยในวันนี้ เพราะในอดีตการมีอยู่ของชาวบ้านในทะเลอันดามันและพื้นที่ป่าเขา ชาวบ้านยืนยันว่าเป็นคนไทยทำให้ไทยไม่ต้องเสียดินแดนให้อังกฤษ แต่เมื่อมีการออกฏหมายป่าไม้และกฏหมายที่ดินกลับไม่มีการกันพื้นที่ให้ชาวบ้านเหล่านี้

อ่านข่าว เอ็นจีโอ เผยคนรวยถือครองที่ดินส่วนมาก ทำแก้เหลื่อมล้ำไม่ได้ ชี้ภาษีที่ดินไม่ก้าวหน้า ทำท้องถิ่นรายได้หด

อ่านข่าว บ้านกลางโมเดล ต้นแบบชุมชน คนอยู่กับป่า ยืนหยัดสู้รัฐ ด้วยข้อมูล และวิถีกะเหรี่ยงดั้งเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน