โทษอ่วม!! สธ. เผยผลสอบ รพ.พระราม 2 ผิดจริง ปมสาวโดนสาดกรด ส่งฟันอาญา

เผยผลสอบ – กรณีชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยื่นหนังสือร้องเรียนโรงพยาบาลพระราม 2 ว่าปฏิเสธการรักษาและมีบริการทางการแพทย์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จนทำให้หญิง อายุ 38 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการถูกสาดน้ำกรดเสียชีวิต กระทั่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 20 พ.ย. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดี สบส. แถลงข่าวผลการสอบสวนข้อเท็จจริงฯว่า จากเหตุการณ์กรณีรพ.พระราม 2 เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา และได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 15 คน มาจากกรรมการหลากหลายภาคส่วน

ได้พิจารณาข้อมูลหลักฐานต่างๆ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งญาติผู้เสียหาย คนขับแท็กซี่ และโรงพยาบาลพระราม 2 และโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่ผู้เสียหายและผู้เสียชีวิตได้เดินทางไปรักษาต่อ คือ โรงพยาบาลบางมด ซึ่งจากการพิจารณามีทั้งหมด 5 กรณีที่โรงพยาบาลพระราม 2 เข้าข่ายมีความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2559 แบ่งออกเป็นกรณีเอาผิดสถานพยาบาล และบุคคล ดังนี้

กรณีที่ 1 ให้พยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ตรวจประเมินวินิจฉัยอาการผู้ป่วย โดยไม่รายงานแพทย์ จากกรณีนี้ทางคณะกรรมการมีมติว่า อาจเข้าข่ายกระทำผิดในเรื่องของการไม่ควบคุมและดูแลมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพประกอบวิชาชีพผิดไปจากสาขาที่ขออนุญาต ในการลงโทษเข้าข่ายผิดม.34(1) และ(2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ หมายถึงจะดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป ซึ่งผู้กระทำผิดคือ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

กรณีที่ 2 เมื่อได้รับรายงานแล้ว จากการสอบถามทราบว่า พยาบาลที่ได้รับการตรวจรักษาแล้วได้รายงานผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ โดยผู้ดำเนินการได้สั่งการให้รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล จากการที่พนักงานของสบส.เข้าไปสอบสวนข้อมูล ระบุว่า หากผู้ดำเนินการสั่งการให้รับผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยใน แสดงว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นได้รับการประเมินจากแพทย์

ก่อนที่จะนำผู้ป่วยนอนในรพ.ตามที่ได้สั่งการ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทางคณะกรรมการฯมีมติว่า อาจจะเข้าข่ายไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด จึงเข้าข่ายมีความผิดตามม.34 (2) มีบทลงโทษไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้กระทำผิดคือ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

กรณีที่ 3 เป็นกรณีไม่ได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือตรวจคัดแยกระดับความฉุกเฉินตามมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ ในกรณีนี้เข้าข่ายทำผิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ในม.35(3) และ(4) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกรณีมีมติให้เปรียบเทียบปรับ โดยผู้ที่จะถูกลงโทษกรณีนี้คือ ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล กับผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

กรณีที่ 4 ไม่ได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยที่อยู่ในสภาพอันตราย และจำเป็นต้องได้รับรักษาพยาบาลฉุกเฉิน กรณีนี้อาจจะเข้าข่ายผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลไม่ได้ควบคุมดูแลให้การช่วยเหลือเยียวยาตาม ม.33/1 มีอัตราโทษในกรณีนี้ เข้าได้กับม.36 วรรค 1 มีบทลงโทษไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะส่งศาลพิจาณาต่อไป ซึ่งผู้กระทำความผิดคือ ผู้ได้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล

กรณีที่ 5 เมื่อได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแล้ว และอ้างว่าเป็นความต้องการของผู้ป่วยเองที่มีความประสงค์ไปรักษาพยาบาลที่รพ.ที่ 2 นั้น เรื่องนี้จะเข้าข่ายการส่งต่อไม่เหมาะสม คือ ไม่มีการจัดทำหนังสือส่งตัวผู้ป่วย มีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายผู้ป่วย

อาจมีความผิดตามกฎหมายกำหนดตามม.36 วรรค 3 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสรุปจะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งหมด และส่งเรื่องให้ทางสน.ท่าข้าม ในวันที่ 21 พ.ย.ทันที โดยจะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางคดีต่อไป

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า สำหรับกรณีบุคคล ในที่นี้คือ พยาบาลที่ให้การดูแลรักษา และยอมรับว่าไม่ได้รายงานต่อแพทย์เวรประจำวันนั้นๆ ซึ่งเข้าข่ายจริยธรรมและการประกอบวิชาชีพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด โดยจะมอบให้ทางสภาการพยาบาลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทาง สบส.ได้ตรวจสอบและพบว่า ทางรพ.พระราม 2 กระทำผิดเรื่องการขออนุญาตการก่อสร้างเพิ่มเติม คือ การนำที่อาคารจอดรถมาปรับปรุงเป็นอาคารผู้ป่วยนอกนั้น ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้รับอนุญาตจากทาง สบส. จึงสั่งให้ปิด และปรับปรุง

พร้อมทั้งมาขออนุญาตภายใน 15 วัน แต่หากยังไม่ปรับปรุงแก้ไข ก็อาจถูกลงโทษด้วยการพักใช้ใบอนุญาตได้ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เข้ามาขออนุญาต จึงยังไม่สามารถเปิดใช้บริการในส่วนอาคารดังกล่าวได้ แต่หากมายื่นขออนุญาต ทางสบส.จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป

อธิบดี สบส. กล่าวอีกว่า เพื่อความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วย ขอให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วยในระบบ UCEP ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วย หากประเมินแล้วพบว่าเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรกแต่อย่างใด

แต่หากประเมินแล้วพบว่ามิได้เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ก็ควรสื่อสาร ชี้แจงถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลกับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อมิให้เกิดการเข้าใจผิด ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการสภานพยาบาลสถานพยาบาลใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541

“สบส.ได้ใช้เวลาการพิจารณาค่อนข้างรวดเร็ว โดยใช้เวลา 10 วัน ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงทำให้มีมติ 5 กรณี แต่เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย จึงต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีบุคคล มีเฉพาะพยาบาลใช่หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า พยาบาลยอมรับว่า เป็นผู้รักษาผู้ป่วยโดยไม่รายงานแพทย์ จึงผิดตามจริยธรรม ส่วนผู้ดำเนินการก็โดนในเรื่องไม่ได้ควบคุมกำกับให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตามวิชาชีพของตนเอง

เมื่อถามต่อว่า ขณะนั้นไม่มีแพทย์เวรประจำอยู่ใช่หรือไม่ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า จากการเข้าไปสอบสวน ทางพยาบาลยอมรับว่าไม่ได้รายงานแพทย์เวร ซึ่งจากการยอมรับดังกล่าวแพทย์เวรไม่น่าจะทราบเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าผู้เสียหายขอไปรักษาที่รพ.อีกแห่ง และจากการดูรายงาน ตารางเวรต่างๆ มีแพทย์เวรอยู่

เมื่อถามถึงสาเหตุการเสียชีวิต นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตนั้น หากญาติติดใจก็ต้องรอให้มีการพิสูจน์อีกครั้ง ตามสถาบันนิติเวช ส่วนสาเหตุเราคงบอกไม่ได้

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

____________________________________________________________________________

อ่านข่าว สาวถูกสาดน้ำกรด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน