เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิททยาลัยมหิดล แถลงข่าวความสำเร็จ “การผ่าตัดรักษาโรคหัวใจด้วยหัวใจเทียม Heart Mate3 ครั้งแรกในประเทศไทย” โดย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รศ.นพ.ปิยะ สมานคติวัฒน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทศาสตร์ รพ.รามาฯ นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และผศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ ร่วมแถลงข่าว

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า นับเป็นความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย กับการผ่าตัดด้วยเครื่องหัวใจเทียม Heart Mate3 ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผ่านการรับรองให้ใช้สำหรับช่วยพยุงการทำงานของหัวใจ หรือเรียกอีกชื่อว่า LVAD หน้าที่ของเครื่อง คือทำการปั๊มเพิ่มแรงดันส่งเลือดให้ไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ด้วยเป็นเทคโนโลยีใหม่จึงมีราคาค่อนข้างสูง ผู้ป่วยจ่ายเองได้ก็ไม่มีปัญหา โดยเครื่องมือนี้เริ่มต้นอยู่ที่ราคา 8 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 6 ล้านบาท แต่ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถจ่ายได้ ทางคณะแพทย์จะมีการพิจารณาข้อบ่งชี้ ความจำเป็น จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากมูลนิธิรามาธิบดี

รศ.นพ.ปิยะ กล่าวว่า สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้จำเพาะผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย ที่มีภาวะน้ำท่วมปอด หรือผู้ป่วยอยู่ระหว่างรอเพื่อรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจและมีอาการหนัก โดยที่ยังไม่มีหัวใจจากผู้บริจาคที่เหมาะสม หรือเป็นผู้ป่วยที่ไม่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งจากข้อบ่งชี้ดังกล่าว ประกอบกับรพ.รามาฯ มีเคสที่เข้าข่าย คือพล.อ.ณรงค์ จารุเศรณี ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา และด้วยความจำเป็นจึงต้องผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าว ซึ่งการผ่าตัดทำได้โดยผ่านทางแผลผ่าตัดกลางหน้าอก และเชื่อมผู้ป่วยเข้ากับเครื่องหัวใจและปอดเทียม

เมื่อทำการเชื่อมเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ตลอดเวลา แพทย์จะฝังเครื่องดังกล่าวเข้าไปที่บริเวณหัวใจห้องซ้ายล่าง ต่อมาจึงนำสายควบคุมการทำงานและพลังงานออกมาทางผนังหน้าท้องผ่านทางแผลเล็กอีกแผลหนึ่ง จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายคือ การต่อเชื่อมท่อนำเลือดออกจากเครื่อง เข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่ เมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนจะให้เครื่องเริ่มทำงาน และค่อยๆลดการช่วยของเครื่องหัวใจและปอดเทียม จนกระทั่งหยุดใช้ และให้ทำงานผ่านเครื่องดังกล่าวแทน ซึ่งหลังการผ่าตัดผู้ป่วยอาการดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

นพ.ธีรภัทร กล่าวว่า สำหรับอายุการใช้งานของเครื่องดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 10 ปี แต่จากข้อมูลของรุ่นเก่าสามารถทำงานได้ถึง 17 ปี ทั้งนี้ สำหรับข้อจำกัดของการใช้เครื่อง ยังติดเรื่องความคล่องตัว เนื่องจากการชาร์จแบตเตอรี่ ยังต้องเป็นการชาร์จจากภายนอกอยู่ แต่หวังว่าอนาคตอาจมีการพัฒนาเครื่องให้สะดวกมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการผ่าตัดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของไทย ส่วนผู้ป่วยที่ไม่สามารถจ่ายได้ หากมีความจำเป็นก็ยังมีการสนับสนุนจากทางมูลนิธิรามาธิบดี

ผศ.นพ.ครรชิต กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยรายนี้ เริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วมีอาการเหนื่อยหอบง่าย ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ทางรามาฯ ได้ผ่าตัดทำบัลลูน อาการก็ดีขึ้น แต่ต่อมาเมื่อปีที่แล้วก็เริ่มเหนื่อยหอบอีก ทางคณะแพทย์ก็มีการตรวจวินิจฉัยพบว่าอยู่ในข่ายข้อบ่งชี้ จึงเสนอทางเลือกในการรักษาด้วยวิธีนี้ อย่างไรก็ตาม หลังผ่าตัดผู้ป่วยอยู่ในไอซียูประมาณ 3 สัปดาห์ และพักฟื้นในรพ.อีก 1 เดือน หลังจากนั้นก็สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเด่นชัด ซึ่งพล.อ.ณรงค์เข้าผ่าตัดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 8 เดือนแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน