ลูกจ้างเฮ ผ่านกม.คุ้มครองแรงงาน เพิ่มสิทธิประโยชน์ ลาคลอด-ถูกเลิกจ้าง ชดเชย 400 วัน

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่แล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้นำร่างกฎหมายนี้เสนอ สนช. และสนช.ตั้งคณะกรรมาธิการรับหลักการวาระที่ 1 และตั้งคณะกรรมาธิการทั้งหมด 16 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย 12 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายคือ วันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุดวันนี้(13 ธ.ค.) พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร สมาชิกสนช. นำเข้าพิจารณาวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุม สนช. เห็นชอบทั้งหมด 25 มาตรา หลังจากนั้นรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วันจะมีผลบังคับใช้ทันที ถือเป็นของขวัญปีใหม่ได้ และน่าจะบังคับใช้ได้ก่อนเลือกตั้งก.พ.2562

นายมนัส กล่าวอีกว่า โดยทั้งหมดลูกจ้างจะได้สิทธิประโยชน์ 7 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ประเด็นที่ 1 ลากิจธุระจำเป็นได้ค่าจ้าง 3 วันทำงานต่อปี ประเด็นที่ 2 ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ลาก่อนคลอด หลังคลอดได้ 98 วัน

ประเด็นที่ 3 กรณีนายจ้างมีการเปลี่ยนตัว เปลี่ยนนิติบุคคล หากลูกจ้างไม่ยินยอม ก็สามารถรับค่าชดเชยพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ โดยหากทำงานมาครบ 20 ปีก็ได้รับ 400 วัน ประเด็นที่ 4 ได้รับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา

คือ อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปีได้ค่าชดเชย 30 วัน อัตราที่ 2 ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปีจะได้รับเงินชดเชย 180 วัน

อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน อัตราที่ 5 ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน และอัตราที่ 6 ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

“ประเด็นที่ 5 กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อี่น หากลูกจ้างไม่ตามไปก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และได้สิทธิชดเชยตาม 6 อัตรา ซึ่งกฎหมายเก่าไม่ได้เลย เราต้องตามไป แต่ของใหม่ให้สิทธิเราเลือกได้

ประเด็นที่ 6 กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน จะเป็นในบางอาชีพ อย่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คนขับรถส่งของ ก็เป็นงานที่ไม่มีค่าล่วงเวลา แต่จะได้ค่าตอบแทนเป็นหลัก หากเกินเวลาปกติ โดยของเดิมดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7.5 ต่อปีกรณีลูกจ้างไปฟ้องขอ แต่กฎหมายใหม่ให้ได้สูงสุดถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

และประเด็นที่ 7 ให้สิทธิเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย โดยลูกจ้างมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องค่าจ้าง ค่าตอบแทน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่กำหนด แต่ของใหม่เราเพิ่มตรงนี้ว่า ลูกจ้างชายหญิงมีงานเท่าเทียมกันต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 100” นายมนัส กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน