อธิบดีสถ. สานต่อปฎิญญา สหกรณ์ออมทรัพย์ท้องถิ่น

อธิบดีสถ. สานต่อปฎิญญา สหกรณ์ออมทรัพย์ท้องถิ่น – สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สอ.สถ.) ได้ผลการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ระดับดีเลิศ พร้อมสานต่อปฎิญญา “สหกรณ์มั่นคง สมาชิกมั่งคั่ง”

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จํากัด (สอ.สถ.) เปิดเผยว่า สหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สอ.สถ.) ได้ผลการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ 2561 ในระดับดีเลิศจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์ โดยใช้การจัดมาตรฐานสหกรณ์เป็นกลไกหลักในการพัฒนาระบบสหกรณ์ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ ที่พิจารณาจากผลการดำเนินงานและกระบวนการจัดการภายในของสหกรณ์
ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับมาตรฐานดีเลิศ ระดับมาตรฐานดีมาก ระดับมาตรฐานดี และไม่ผ่านมาตรฐาน เพื่อวัดความเป็นองค์กรของสมาชิกตามหลักการสหกรณ์ การปฏิบัติตามกฎหมาย และการบริหารจัดการภายใน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาสหกรณ์ด้วยตัวสมาชิกและสหกรณ์เองเป็นหลัก เน้นให้สหกรณ์มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาตนเองให้ผ่านมาตรฐาน
จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สอ.สถ.) ที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมการออม ให้บริการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกและครอบครัว ตลอดจนการจัดสวัสดิการต่างๆ เช่น การสมรส คลอดบุตร เพื่อการศาสนา ถึงแก่กรรม ทุนการศึกษาบุตรสมาชิก กรณีประสบภัย เป็นต้น โดยวิธีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันในหมู่สมาชิกตามหลักการสหกรณ์ และตามปฎิญญาสหกรณ์ที่ว่า”สหกรณ์มั่นคง สมาชิกมั่งคั่ง”
นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 14 ปี สอ.สถ. ได้ให้บริการแก่สมาชิกอย่างครบวงจร คือ การออมหุ้น การรับเงินฝาก โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคาร และการให้เงินกู้แก่สมาชิกโดย สอสถ.จะนำเงินค่าหุ้นและเงินฝากของสมาชิกมาหมุนเวียนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นหรือเดือดร้อนกู้ยืม ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเอกชน สำหรับการให้กู้เงินนั้น จะมี 2 ประเภท
คือ 1. เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน วงเงินกู้ 2 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 30,000บาท ผ่อนชำระ 6 เดือน หรือวงเงินกู้ 3 เท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 60,000 บาท (ATM) ผ่อนชำระ 12 เดือน และ 2. เงินกู้สามัญ วงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 บาท ผ่อนชำระ 120 เดือน ต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินที่กู้
และมีบุคคลคือสมาชิกค้ำประกัน สมาชิก 1 คน ค้ำประกันได้ไม่เกิน 3 สัญญา หรือค้ำได้ในวงเงินไม่เกินสิทธิกู้ของตน ในการกู้ยืมเงินประเภทนี้สมาชิกและผู้ค้ำประกันจะทำหนังสือยินยอมให้หน่วยงานหัก ณ ที่จ่าย ตาม พรบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 ที่สมาชิกได้ทำความยินยอมเป็นหนังสือให้สหกรณ์หักเงินได้รายเดือนเพื่อชำระหนี้แก่สหกรณ์ โดยสละสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 688 , 689 , 690 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นคือ ผู้ค้ำประกัน ก็ถือเป็นลูกหนี้ร่วม หรือลูกหนี้ชั้นต้น
ซึ่งในปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นทุกปีๆ จนถึงปัจจุบัน มี NPL ร้อยละ 40 ที่ได้ติดตามทวงถามมานานหลายปี มีการผ่อนปรนมาโดยตลอด บางปีได้ส่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้กู้และผู้ค้ำประกันทั้งชุด ผลการพิพากษาทาง สอ.สถ.ก็ชนะคดีทุกราย ศาลจึงสั่งให้จำเลย คือผู้กู้และผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ สอ.สถ. แต่จำเลยทั้งหลายก็ยังคงไม่ชำระหนี้ ต้องจ้างทนายไปสืบทรัพย์และบังคับคดี ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
ซึ่งถ้าส่งฟ้องทั้งหมดก็จะเป็นค่าใช้จ่ายของ สอ.สถ.ประมาณ 90 ล้านบาท มีผลต่อการดำเนินการของ สอ.สถ. ก็จะทำให้การมีลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ส่งผลให้ สอ.สถ.ไม่ได้รับดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืม คือ ศูนย์บาท และยังจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูง อันเนื่องมาจากนายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้สหกรณ์ตั้งสำรองหนี้สูญ ทำให้ผลการดำเนินการของสหกรณ์(กำไร/ขาดทุน ลดลง ซึ่งจะมีผลกับมวลสมาชิก โดยเฉพาะสมาชิกที่มีวินัยดี เพื่อเป็นการรักษาและคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกโดยรวม
อย่างไรก็ดี ทาง สอ.สถ. ได้มีโครงการช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน (คลินิกแก้หนี้) นี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ สอ.สถ. จัดขึ้นโดยมีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ค้ำประกันที่ได้รับการโอนหนี้จากผู้กู้ที่ค้างชำระ เพื่อให้ผู้ค้ำประกันได้แก้ไขปัญหาหนี้สินให้ยุติในคราวเดียว และเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการชำระหนี้ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถที่แท้จริง ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี
รวมทั้งเพื่อเป็นการให้คำแนะนำในด้านต่างๆ แก่ผู้ค้ำประกัน ให้ได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ หรือขอประนอมหนี้ และปลดภาระหนี้ ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินขึ้น ซึ่งทางสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ค้ำประกันไว้ด้วย ดังนี้
1. ยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ/ดอกเบี้ยเก่าของผู้กู้ ทั้งหมดแก่ผู้ค้ำประกัน (สงวนสิทธิ์เรียกเก็บจากผู้กู้)
2. ผู้ค้ำประกันมีสิทธิฟ้องดำเนินคดีกับผู้กู้ โดยสหกรณ์ช่วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีร้อยละ 50 ของใบเสร็จรับเงินที่นำมาแสดงกับสหกรณ์
3. สมาชิกที่เป็นผู้ค้ำประกันสามารถส่งคำขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ (รวมหนี้ หรือแยกเฉพาะหนี้ที่รับโอน) โดยสามารถขยายงวดผ่อนชำระได้ถึง 180 งวด และไม่เกินอายุราชการ
4. ผู้ค้ำประกันที่พ้นสมาชิกภาพไปแล้วสามารถส่งคำขอประนอมหนี้ได้ ถ้าชำระเงินต้นทั้งหมดจะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระ/ดอกเบี้ยเก่า ร้อยละ 90 หรือ ขยายงวดผ่อนชำระได้ถึง 120 งวด และไม่เกินอายุราชการ
5. กรณีที่เป็นหนี้ก่อนปี พ.ศ. 2556 เมื่อสมาชิกชำระหนี้ทั้งหมดในคราวเดียวกันจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันร้อยละ 20 ของเงินต้น แต่ไม่เกิน 40,000 บาท
อธิบดีกล่าวต่อว่า จากการดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน (คลินิกแก้หนี้) ของ สอ.สถ. ส่งผลให้มีหนี้ที่ค้างชำระลดลงร้อยละ 4 เป็นเงินถึง 47.69 ล้านบาท จากการที่ผู้ที่เป็นลูกหนี้และผู้ค้ำประกันได้นำเงินมาชำระหนี้ให้กับ สอ.สถ.
และล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการฯ ชุดที่ 14 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายโครงการช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน(คลินิกแก้หนี้) ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 และให้มีการสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ เพื่มอีกด้วย หากสมาชิกรายใดมีปัญหาในการชำระหนี้ ก็ขอให้ติดต่อสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำกัด (สอ.สุ.) เพื่อรับคำปรึกษาและแนะนำการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไปด้วย นายสุทธิพงษ์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน