เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ลานแสดงนิทรรศการปลาแซบหลาย ปลอดภัยอีหลีเด้อ ภายในงานวันเกษตรแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย ศ.ดร.พวงรัตน์ ยงวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี จัดงานเสวนา “นวัตกรรม อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ” เพื่อเน้นย้ำการบริโภคที่ปลอดภัยให้กับคนอีสาน ที่เสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี

พร้อมกับเปิดตัวชุดทดสอบการตรวจหาพยาธิใบไม้ตับ ที่สามารถพกพาได้และมีความสะดวกรวดเร็วมาขึ้น สามารถตรวจสอบได้ทันที ซึ่งเป็นการคิดค้นของทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครั้งแรกของโลกที่คิดค้นจากฝีมือของคนไทย

รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว หัวหน้าโครงการแก้ไขโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี กล่าวว่า แม้การรณรงค์ของโครงการดังกล่าวจะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ปี แต่เราก็ยังคงค้นพบผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้นทุกปีเช่นกัน เรื่องจากโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีนั้น เป็นโรคที่ต้องตรวจจึงจะสามารถค้นพบ และกลุ่มอายุที่พบว่าป่วยด้วยโรคดังกล่าวอย่างมากคือ 40 ปีขึ้นไปและพบมากในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่การลงพื้นที่ตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยในปีที่ผ่านมาพบว่า จ.กาฬสินธุ์และนครพนม มีอัตราของการพบผู้ป่วยสูงสุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานปลาดิบหรือปลาสุกๆดิบ

“พฤติกรรมของคนอีสานยังคงนิยมบริโภคอาหารสุกๆดิบๆ อย่างเช่นคนในย่านชนบทที่ออกไปหาปลาแล้วก็พากันสับ และทำอาหารขึ้นมารับประทานทันทีเพียงแค่เชื่อว่าบีบมะนาวลงไปปลาจะสุก แต่พยาธิใบไม้ตับนั้นไม่ตายไป โดยเฉพาะกลุ่มปลาเกล็ดขาวอย่างปลาตะเพียน ปลาสร้อย ที่พบมากในลุ่มน้ำของภาคอีสาน ทำให้แผนการรณรงค์และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะยังคงต้องเข้มข้นมากขึ้นขณะเดียวกันทีมนักวิจัยเองนั้นก็มีการคิดค้นอุปกรณ์สำหรับการตรวจคัดกรองที่สะดวก รวดเร็ว ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยชุดตรวจหาผู้ป่วยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่พกพาได้ คล้ายกับชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ จึงเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่คิดค้นขึ้นจากทีมนักวิจัยของไทย และขณะนี้มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรแล้ว” รศ.นพ.ณรงค์ กล่าว

หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ชุดตรวจหาพยาธิใบไม้ตับด้วยปัสสาวะ อยู่ในขั้นตอนของการผลิตชุดแรก 100,000 ชิ้น คาดว่าจะสามารถนำมาใช้งานได้ในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้

โดยจะเน้นไปในรูปแบบของการง่ายต่อการพกพา การตรวจสอบได้ด้วยตนเองและหาซื้อได้ในราคาชุดละ 150-200 บาท โดยผู้ทดสอบเมื่อนำปัสสาวะใส่ลงไปในตลับทดสอบแล้วนั้น การทดสอบก็จะบอกค่าปฎิกิริยา คือ 1 ขีดไม่พบพยาธิใบไม้ตับ แต่ถ้าขึ้น 2 ขีดจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องเข้ารับการตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อประเมินสถานการณ์และเข้ารับการรักษาให้ได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ดี ชุดตรวจหาพยาธิใบไม้ตับด้วยปัสสาวะชุดแรกนี้นั้น จะถูกส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุข สำหรับการแจกจ่ายให้กับอสม. เพื่อทำการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานเป็นอันดับแรก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน