ผวจ.สุราษฎร์ฯ ออกหนังสือด่วน เตือน พายุปาบึก ชาวประมงพร้อมรับมือพายุ หลังสังเกตุพบ “คลื่นอุตรา” ในลักษณะคล้ายมีพายุใหญ่ในทะเลลึก ด้านฝ่ายปกครองลงคุยชาวบ้านวางแผนกรณีฉุกเฉิน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 2 ม.ค. ที่ชุมชนเกาะแรด ม.3 ต.เกาะแรด อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานีจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้าเยี่ยมประชาชนเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศและสภาพคลื่นลมในทะเล ซึ่งขณะนี้พบว่าเริ่มมีลมแรงขึ้นมีคลื่นมากขึ้น โดยชาวบ้านเรียก “คลื่นอุตรา” ที่รับอิทธิพลลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

นายภูวนาท แก้วออด ผู้ใหญ่บ้านบ้านเกาะแรด กล่าวว่า ขณะนี้ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ได้หยุดออกหาทะเล และนำเรือจอดริมเกาะฝั่งที่ไม่โดนลมเพื่อหลบคลื่น เนื่องจากคลื่นในลักษณะนี้ชาวประมงส่วนใหญ่ จะรู้ว่าในทะเลลึกน่าจะมีพายุแรง โดยขณะนี้ชาวบ้านกว่า 300 คน รับทราบสถานการณ์และพร้อมรับมือกรณีฉุกเฉิน ตามแผนเผชิญเหตุที่เคยมีการฝึกซ้อมเอาไว้

“ส่วนชาวประมงเรือเล็กในอ่าวดอนสักที่เข้าหลบลงในคลองดอนสักหมดแล้ว เนื่องจากชาวประมงมีประสบการณ์ในเรื่องพายุเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานต่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อคอยรับมือ พายุปาบึก ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่ง ซึ่งก็ยังหวังว่าพายุที่เพิ่มกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน จะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชันเมื่อถึงแผ่นดินใหญ่ เหมือนพายุใต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้า ปี2547” นายภูวนาท กล่าว

ด้าน นายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ ได้มีหนังสือด่วนไปยังอำเภอต่างๆ และหน่วยงานรับผิดชอบ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเรื่อง พายุปาบึก กำลังเคลื่อนตัวลงอ่าวไทย ในวันที่ 2-3 ม.ค.นี้ โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ช่วงวันที่ 3–5 ม.ค.นี้ ทำให้บริเวณดังกล่าว มีฝนตกหนักถึงหนักมากนั้น

และได้สั่งการให้ นายจำนง สวัสดิ์วงศ์ รรท.หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดตั้งศูนย์บัญชาการณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม) ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เป็นตัวขับเคลื่อน ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรในการบริหารจัดการ และแบ่งโซนรับผิดชอบออกเป็น 4 โซน

โดยมอบหมาย รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการและหน่วยงานประจำโซน ซึ่งได้มีการแจ้งเตือนให้อำเภอที่มีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ประกอบด้วย อ.ท่าชนะ, ไชยา, ท่าฉาง, วิภาวดี, พนม, พระแสง, ชัยบุรี, คีรีรัฐนิคม, เวียงสระ และกาญจนดิษฐ์

ส่วนอำเภอที่เสี่ยงสถานการณ์คลื่นลมแรง ประกอบด้วย อ.ท่าชนะ, ไชยา, ท่าฉาง, พุนพิน, เมือง, กาญจนดิษฐ์, ดอนสัก, เกาะสมุย และเกาะพะงัน แจ้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้หน่วยทหาร มณฑลทหารบก ที่ 45 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 กองบิน 7 เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ ยุทโธปกรณ์ กำลังพล ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกล เรือท้องแบน รถยกสูงอพยพผู้ประสบภัย รถไฟฟ้าส่องสว่าง และจัดส่งเครื่องสูบน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำท่วมขัง ไปติดตั้งพื้นที่เสี่ยงภัยอ.เกาะสมุย โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานีพร่องน้ำในคลองสายหลักในพื้นที่อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ไชยา

พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งประตูระบายน้ำ คลองท่าโพธิ์ คลองไชยา อำเภอไชยา แขวงทางหลวงสุราษฎร์ธานี ที่ 1,2,3 แขวงทางหลวงชนบทสุราษฎร์ธานี เตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกล ป้ายเตือนเส้นทางน้ำท่วม

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่ เพิ่มเพื่อน

ทั้งนี้ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคทุกสาขา ควบคุมการเดินเรืออย่างใกล้ชิด เรือประมง เรือโดยสาร และเรือเฟอร์รี่ ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 6 ม.ค.นี้ ให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก ถ้ำ ให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้าสถานการณ์วิกฤติให้ดำเนินการปิดหรือห้ามเข้าโดยเด็ดขาดขณะที่เขื่อนรัชชประภามีความมั่นคงแข็งสามารถรับน้ำได้อีก 930 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดเจ้าหน้าเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทั่วถึง เตรียมรับสถานการณ์ อย่าตื่นตระหนกให้ติดตามการแจ้งเตือนจากหน่วยงานภาครัฐ หากเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นให้รายงานสถานการณ์เหตุด่วน ให้กองอำนวยการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทราบโดยเร่งด่วน ทางโทรสารหมายเลข 0-7727-5551/0-7727-5848

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน