เมื่อวันที่ 5 ก.พ. นายนพดล ภู่ชัย หัวหน้าหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ จ.พะเยา เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ดำเนินโครงการขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมืองโบราณเวียงลอ ภายในเขตโบราณสถานเวียงลอ หมู่ 1 ต.ลอ อ.จุน จ.พะเยา เป็นโครงการที่กลุ่มโบราณคดี ดำเนินการขุดค้นในพื้นที่ต่อเนื่องจากเมือปี 2548 ที่ผ่านมา โดยเป็นแหล่งฝังศพที่ตั้งอยู่มุมกำแพงเมืองคูเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเวียงลอ

ในปีนี้ได้ขุดพบโครงกระดูกจำนวน 2 โครง โดยโครงแรกพบฝังอยู่ลึกใต้ชั้นฐานรากกำแพงเมืองเวียงลอ ในชั้นดินสันดอนริมน้ำอิงเดิม โดยมีรูปแบบการฝังนอนเหยียดยาวหันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันออก มีการฝังของอุทิศให้แก่ผู้ตาย เช่น เครื่องประดับสำริดต่างๆ (กำไล ต่างหู) เครื่องมือเหล็ก ภาชนะดินเผา เป็นต้น

ส่วนโครงที่สองอยู่ในชั้นดินสันดินเก่าของแม่น้ำอิงเช่นเดียวกัน แต่มีการฝังศพนอนเหยียดยาวหันศีรษะไปด้านทิศใต้ มีการวางภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ไว้บริเวณเหนือศีรษะและปลายเท้า มีการฝังเครื่องประดับสำริดต่างๆ (กำไล ต่างหู) เครื่องมือเหล็ก เป็นของอุทิศแก่ผู้ตายด้วย

หน.หอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ พะเยา กล่าวต่อว่า เป็นที่น่าเสียดายว่าบริเวณที่ตั้งแหล่งโบราณคดีนี้เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังทุกปี ทำให้ดินมีความชื้นสูงมาก กระดูกที่ขุดพบจึงเสียหายไปมากกว่าร้อยละ 80 คงหลงเหลือให้เห็นเฉพาะกระดูกชิ้นใหญ่ๆ เท่านั้น เช่น กระดูกกะโหลก (Skull) กระดูกต้นขา (Femur) และกระดูกแข้ง (Tibia) ทำให้จำแนก เพศ อายุ และสัดส่วนความสูงได้ไม่ชัดเจนนัก

“อย่างไรก็ตาม การค้นพบแหล่งฝังศพนี้ แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก มาก่อนการสร้างเมืองเวียงลอ ซึ่งต่อมาจะเติบโตเป็นเมืองสำคัญทางด้านทิศตะวันออกของอาณาจักรล้านนา แหล่งโบราณคดีแห่งนี้จึงเป็นแหล่งสำคัญที่เป็นตัวแทนหนึ่ง ในการอธิบายพัฒนาการทางวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณลุ่มน้ำอิงหรือแอ่งที่ราบเชียงราย-พะเยา ได้ สำหรับค่าอายุที่แท้จริงของแหล่งฝังศพนี้ นักโบราณคดีจะนำตัวอย่างหลักฐานที่เก็บในหลุมขุดค้นไปกำหนดค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ต่อไป หลังจากดำเนินงานขุดค้นภาคสนามเรียบร้อยแล้ว” นายนพดล กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน