อธิบดีสถ. ตรวจเยี่ยมแผนกำจัดขยะที่ตราด ร่วมปลูกต้นไม้อนุรักษ์ธรรมชาติ

อธิบดีสถ. / เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ อาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา นายอนันต์ ทรัพย์วารี ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด้านการศึกษาท้องถิ่น และผู้บริหารกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงพื้นที่จ.ตราด เพื่อมอบนโยบายการบริหารงานตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และตรวจเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก

โดยมีนายศุภมิตร ชินศรี รองผู้ว่าฯตราด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ที่อาคารผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก จากนั้นเดินทางไปยังวัดเกาะหมาก เพื่อเยี่ยมชมการจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน พร้อมทั้งรณรงค์เชิญชวนให้ครัวเรือน สถานที่ราชการ ร้านอาหาร และโรงแรมที่พักต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน และช่วงเย็นร่วมปลูกต้นไม้ 200 ต้น (ต้นเฟื่องฟ้าสีชมพู) บริเวณริมถนนสายท่าเทียบเรืออ่าวนิด – สามแยกอินจันทร์ ตามโครงการ 1 อปท. 1 ถนน ท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม

อธิบดี สถ. กล่าวถึงการบริหารจัดการขยะ ซึ่งถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ได้มีมติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะของประเทศ และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ก็มีภารกิจหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งสิ่งที่สำคัญก็คือ การบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นั่นคือ ครัวเรือน โดยการจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน ซึ่งผู้ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ก็คือท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ใช้หลักการ 3Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะต้นทาง ที่จะต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พี่น้องประชาชน เยาวชนตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับบุคคลหรือประชาชน

รวมถึงให้มีการจัดตั้ง “จุดรวมขยะอันตรายจากชุมชน” เพื่อเป็นจุดทิ้งขยะพิษ เช่น หลอดไฟ ให้ครบทุกแห่งด้วย ซึ่งกรมฯ ก็มีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีการจัดทำถังขยะอินทรีย์หริอถังเปียกครบ 100% ทุกครัวเรือนภายในเดือนเมษายน 2562 นี้ด้วย ซึ่งผู้บริหาร อปท. สามาถใช้กลไกของอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) โดยให้เป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ให้ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ร่วมมือกันดูแลครอบครัวของตนเองให้รู้จักการคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง และขยะพิษ

เมื่อไม่นานมานี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย โดยได้มีการดำเนินการวิเคราะห์อัตราการเกิดขยะเศษอาหารต่อคนต่อวันของคนไทย มีการเก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการ

รวมถึงมีการเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เพื่อหาค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็อาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนอีกด้วยนั่นเอง

อธิบดี สถ. กล่าวต่อถึงโครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยภายในท้องถิ่น มีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ผ่านการเล่นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ที่กรมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ดำเนินโครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยด้วยสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาโดยชุมชนท้องถิ่น

ที่ในวันนี้ได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มาร่วมให้คำแนะนำ และออกแบบการดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาให้กับเกาะหมาก ให้สามารถนำไปดำเนินการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาในพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องตามแนวทางของมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพราะการเล่นจะเสริมสร้างสมาธิให้แก่เด็ก เกิดความสามัคคีกัน ให้เด็กมีสังคมแห่งมิตรภาพ มีความเป็นจิตอาสา และจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดี คือการได้เล่นนั่นเอง

สำหรับโครงการ วัด – ประชา – รัฐ – สร้างสุข พัฒนาวัดด้วยแนวทาง 5 ส. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ก็เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มามีส่วนร่วมในการทำชุมชนให้เข้มแข็ง ให้วัดพร้อมเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างยั่งยืน และกรมฯ เห็นว่าโครงการดังกล่าว เป็นการจรรโลงและดำรงไว้ ซึ่งพระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท 4 ทั้งฝ่ายพุทธจักร และฝ่ายอาณาจักร ที่ต้องคอยเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ประกอบกับการนับถือศาสนา คำสอนของศาสนา และพิธีกรรมทางศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันเป็นอำนาจหน้าที่ อปท. ในการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีของประชาชนในท้องถิ่นกับวัดและศาสนสถานอื่นๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น ให้ได้มีโอกาสช่วยกันทำสิ่งที่ดี นั่นคือ ทำให้วัด หรือศาสนสถาน มีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม อันจะเป็นการสร้างสุขลักษณะที่ดี และสร้างความเลื่อมใส ให้แก่เด็ก เยาวชน และคนในท้องถิ่นนั้นๆ โดยให้ 1 อปท. มีอย่างน้อย 1 วัดเข้าร่วมโครงการฯ เว้นแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ไม่มีวัดอยู่ในพื้นที่ ก็ให้คัดเลือกศาสนสถาน ของศาสนานั้นดำเนินการตามโครงการฯ แทน โดยอนุโลมให้ สอดคล้องกับหลักของศาสนานั้นๆ

รวมถึงโครงการ 1 อปท. 1 ถนน ท้องถิ่นใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการที่กรมฯ จัดขึ้น เพื่อให้ อปท. เชิญชวนทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันพัฒนา ปรับปรุง สิ่งแวดล้อมบริเวณถนนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไม้หรือไม้ดอก ไม้ประดับอื่นๆ ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ดูร่มรื่น และสวยงามทั้งสองข้างถนน นอกจากปลูกต้นไม้ให้สวยงาม บานสะพรั่งแล้ว ก็จะต้องปรับปรุงทิวทัศน์สองข้างทางให้สะท้อนถึงวัฒนธรรม วิถีชุมชน หรือเอกลักษณ์ของชุมชน ไปจนถึงมีการดูแลสิ่งแวดล้อมของถนนเส้นนั้นอย่างเป็นระบบด้วย เช่น กระบวนการรักษาความสะอาด การจัดเก็บขยะ การคัดแยกขยะให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และไม่ลืมที่จะที่เริ่มต้นจากที่บ้านของทุกๆคน โดยดูแลหน้าบ้านของตนเองให้สะอาดสวยงาม

ก็ขอให้ท่านผู้บริหาร อปท. ส่วนราชการต่างๆ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรม ร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองของเราให้น่าอยู่ขึ้น เพราะความสำเร็จอยู่ที่จิตสำนึกของทุกคน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นการ Change For Good เปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีกว่า เปลี่ยนเพื่อประเทศไทยที่สวยงามขึ้นกว่าเดิม อธิบดี สถ. กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน