วันที่ 23 ก.พ. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าพบวาฬบรูด้าขนาดใหญ่เกยหาดบริเวณเขาสูง บ้านคุ้งตะโหนด หมู่ 1 ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากหาดสามพระยา อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดประมาณ 2 กิโลเมตร จึงเดินทางไปตรวจสอบพร้อมนายนิธิ อาจสมรรถ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี, นายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด, เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมประสานเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพรมาตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตาย

ที่เกิดเหตุพบวาฬบรูด้า ยาวประมาณ 4-5 เมตร ยังไม่สามารถระบุเพศได้ หัวเข้าไปเกยซอกหิน เบื้องต้นพบว่ามีบาดแผลขนาดใหญ่ที่บริเวณท้อง และข้างลำตัว เริ่มส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว คาดว่าน่าจะตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3-4 วัน

นายมงคล พันธ์ดี ชาวประมงที่พบซากวาฬบรูด้าคนแรก เล่าว่า ช่วงเช้ามืดตนออกเรือประมงได้กลิ่นเหม็น จึงได้ขับเรือเข้าไปตรวจสอบ กระทั่งพบว่าเป็นวาฬและตนสามารถจำแนกได้ว่าเป็นบรูด้า เพราะเคยดูสารคดีบ่อยๆ รู้ว่าความแตกต่างอยู่ตรงไหน จากนั้นจึงได้โทรศัพท์แจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบเพื่อจะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนตนแล้วรู้สึกเสียใจมาก เพราะเคยเห็นตัวเป็นๆ ว่ายน้ำหากินบ่อยครั้ง และถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาอย่างมาก เนื่องจากเป็นดัชนีแสดงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล นอกจากนี้ตนยังคิดว่าในอนาคตชิ้นส่วนกระดูกของวาฬบรูด้าน่าจะนำมาประกอบเก็บไว้ให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้

ด้านนายสำราญ พันธ์ดี ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่า วาฬบรูด้าที่พบชาวประมงส่วนใหญ่ก็จะเคยพบเห็นเป็นประจำ บางครั้งก็เห็นอยู่เป็นคู่ แหวกว่ายหากินอยู่บริเวณหน้าอ่าว ซึ่งบางปีก็จะมีโลมาฝูงใหญ่เข้ามาหากินที่บริเวณนี้ด้วย เมื่อมาเห็นวาฬบรูด้าตายก็รู้สึกเสียใจ และเสียดายเป็นสัตว์ขนาดใหญ่มาตายในพื้นที่ ซึ่งเมื่อประมาณปีก่อนก็มีลูกวาฬบรูด้ามีขนาดที่เล็กกว่ามาเกยหาดตายไป 1 ตัว

ขณะที่นายนิธิ กล่าวว่า คาดว่าวาฬตัวดังกล่าวอาจจะตายจากนอกพื้นที่ก่อนจะถูกคลื่นซัดเข้าสู่ชายฝั่งและลอยมาติดซอกเขา ทำให้ซากวาฬไม่หลุดลอยไปไหน เบื้องต้นไม่ทราบเพศและสาเหตุการตายที่แน่ชัด ต้องรอดตรวจพิสูจน์อีกคร้ัง

ทางด้านนายรุ่งโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้จะพบวาฬบรูด้าเข้ามาหากินอยู่ในทะเลในเขตอำเภอสามร้อยยอด และกุยบุรี เนื่องจากเป็นช่วงที่ทะเลบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ จึงสามารถเห็นวาฬบรูด้าอยู่เป็นประจำ ส่วนการตายของวาฬบรูด้ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าตายจากที่ไหน แต่โดนคลื่นซัดมาจนเกยหาด ซึ่งขณะนี้ได้ประสานเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง จังหวัดชุมพร เพื่อมาตรวจพิสูจน์ถึงสาเหตุการตายว่าเกิดจากถูกเครื่องมือประมง หรืออาจจะตายตามธรรมชาติต่อไป

อย่างไรก็ตามขณะนี้นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ทราบเรื่องแล้วพร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บข้อมูลการตายของวาฬบรูด้าตัวดี โดยให้ตรวจสอบการเชื่อมโยงกับกลุ่มวาฬบรูด้าฝูงใหญ่ที่มีพื้นที่หากินตั้งแต่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ว่าใช่วาฬบลูด้าที่เคยตรวจสอบทำทะเบียนประวัติ สัญญาณลักษณ์ทางกายภาพของวาฬ ฯลฯ ไว้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน