วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 ที่เรือนจำกลางกำแพงเพชร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดย ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. และคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำกลางกำแพงเพชร ซึ่งเป็นต้นแบบเรือนจำปลอดควันบุหรี่ของไทยภายใต้การสนับสนุนของ สสส.

โดย น.ส.โศรยา ฤทธิ์อร่าม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางกำแพงเพชร กล่าวว่า เรือนจำกลางกำแพงเพชรได้รับเลือกและการสนับสนุนจากกรมราชทัณฑ์ ให้เข้าร่วมการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ในเรือนจำ มาตั้งแต่ปี 2554 โดยมีกิจกรรมหลักคือการจัดสถานที่ปลอดบุหรี่และส่งเสริมให้ผู้ต้องขังเลิกบุหรี่ จึงได้จัดทำโครงการ “เรือนจำกลางกำแพงเพชรรณรงค์งดสูบบุหรี่” มีการดำเนินการดังนี้ 1.จัดนิทรรศการแสดงพิษภัยบุหรี่2.จัดสถานที่ปลอดบุหรี่ 100% คือที่สถานพยาบาล ฯ แดนหญิงและเรือนนอน 4 แดน 4 และ3.จัดทำกลุ่มในผู้ต้องขังที่สมัครเพื่อเลิกบุหรี่ ที่ผ่านมาเรือนจำกลางกำแพงเพชรมีการทำกลุ่มเลิกบุหรี่ไปแล้ว 6 รุ่น มีผู้ต้องขังสมัครใจเข้าร่วม 140 ราย ทำให้มีผู้ต้องขังสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 82 ราย สามารถลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงได้ 24ราย และในปี 2558 เรือนจำกลางกำแพงเพชรได้รับคัดเลือกจากกรมราชทัณฑ์ เครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบ และ สสส. ให้เป็นเรือนจำนำร่องที่เข้าร่วม “โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ”

ด้าน ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทย ปี 2558 มีผู้สูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน โดยกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป ตายจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 50,710 คน เป็นผู้ชาย 42,989 คน และผู้หญิง 7,721 คน ขณะที่ผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ พบผู้ต้องขังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ มากกว่า ร้อยละ 75 โดยเฉพาะผู้ต้องขังในกลุ่มที่มีความเป็นอยู่ที่แออัด การสูบบุหรี่นอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อมในเรือนจำแล้ว ยังทำลายสุขภาพของผู้ต้องขังและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะมะเร็งปอด สสส. จึงร่วมกับเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย ริเริ่ม “โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ” ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน สามารถพัฒนาเรือนจำปลอดบุหรี่นำร่องได้ 13 แห่ง โดยเรือนจำกลางกำแพงเพชร ได้รับรางวัลเป็น 1ใน 3 เรือนจำต้นแบบด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ของไทย ปี 2558 ที่มีผลดำเนินงานได้ดีและประสบความสำเร็จ เป็นต้นแบบให้เรือนจำอื่นๆ ได้มีโอกาสได้มาศึกษาเรียนรู้ต่อไป

“เรือนจำเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด สสส. จึงส่งเสริมและพัฒนาให้เรือนจำเป็นเขตปลอดบุหรี่ ด้วยการสนับสนุนให้มีการควบคุมยาสูบ สร้างระบบบริการเลิกบุหรี่ในเรือนจำ ผ่านเครือข่ายพยาบาลฯ ที่มีศักยภาพที่จะปฏิบัติงานควบคุมยาสูบในทุกมิติ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ สามารถช่วยให้ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเลิกบุหรี่และช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมในเรือนจำให้ปลอดบุหรี่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์สสส. ด้านการลดพฤติกรรมสูบบุหรี่และเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ในสังคม” รองผู้จัดการ สสส. กล่าว

ดร.สุรินธร กลัมพากร เลขาธิการเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ สสส. กล่าวว่า โครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เรือนจำเป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยบูรณาการกับงานประจำเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการเลิกยาสูบ มีแนวทางการทำงานดังนี้ 1.ผลักดันให้เกิดคณะทำงานสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ 2.จัดให้บริการเลิกบุหรี่ให้แก่ผู้ต้องขังที่สมัครใจ 3.จัดพื้นที่ปลอดบุหรี่ 4.ควบคุมกำกับให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการควบคุมยาสูบของเรือนจำอย่างเคร่งครัด 5.ติดตามการดำเนินงานและให้คำปรึกษาแก่พยาบาลที่ร่วมโครงการฯ


“ผลจากการดำเนินงานโครงการฯ ในเรือนจำ 13 แห่ง มีผู้ต้องขังได้รับการช่วยเหลือให้เลิกบุหรี่ 750 คน ในจำนวนนี้มี 258 คน หรือร้อยละ 34.4 ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน เรือนจำที่เข้าร่วมโครงการมี นโยบายการควบคุมยาสูบและการพัฒนาสถานที่ปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้น สามารถพัฒนาสู่การเป็นต้นแบบเรือนจำปลอดบุหรี่ 3 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางกำแพงเพชร เรือนจำหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และเรือนจำกลางมหาสารคามและภายในปี 2561 ตั้งเป้าจะขยายผลไปยังเรือนจำอื่นๆ ทั่วประเทศอีกไม่น้อยกว่า 10 แห่ง” ดร.สุรินธร กล่าว
นายเศกสรรค์ จันทรปราสาท พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าโครงการการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำกลางกำแพงเพชร สสส. กล่าวว่า การดำเนินงานตามโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่เรือนจำ ของเรือนจำกลางกำแพงเพชร มีการตั้งคณะกรรมการทำงาน มีผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธานกรรมการ มีเจ้าหน้าที่ทุกส่วนงานในเรือนจำเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน มีการกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างชัดเจน เช่น สถานพยาบาลฯ แดนหญิง เรือนนอน ฝ่ายการศึกษา ห้องสมุด ชุมชนบำบัด แดนผู้สูงอายุ ซึ่งในแต่ละแดนยังจัดให้มีจุดสูบบุหรี่สำหรับผู้ต้องขังที่ยังไม่พร้อมเลิกสูบบุหรี่ มีการจัดทำกลุ่มสมัครใจเลิกสูบบุหรี่แบบมีพี่เลี้ยง โดยมีผู้ต้องขังที่เลิกสูบบุหรี่ได้แล้วเป็นพี่เลี้ยงดูแลอย่างใกล้ชิด มีการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ที่สถานพยาบาลของเรือนจำ ผลจากการทำงาน ยอดการจำหน่ายบุหรี่และยาเส้นของร้านค้าในเรือนจำลดลง ถึงร้อยละ 50 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังเลิกสูบบุหรี่ คือ บุหรี่ทำให้สุขภาพทรุดโทรม ต้องการทำเพื่อคนรอบข้าง ได้รับความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยของบุหรี่ และมีเป้าหมายในใจที่ชัดเจน

 

ทั้งนี้ เรือนจำที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 13 แห่ง ได้แก่ 1.เรือนจำกลางบางขวาง กรุงเทพฯ 2.เรือนจำกลางนนทบุรี 3.เรือนจำกลางสกลนคร 4.เรือนจำกลางมหาสารคาม 5.เรือนจำกลางกำแพงเพชร 6.เรือนจำหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 7.เรือนจำกลางพิจิตร 8.เรือนจำกันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 9.เรือนจำกลางตาก 10. เรือนจำกลางนครพนม 11.เรือนจำกลางขอนแก่น 12.เรือนจำอำเภอสวรรคโลก จ.สุโขทัย และ 13.เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน