กะเหรี่ยงบางกลอย ยื่นหนังสือ ขอให้แก้ปัญหา ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกป่าแก่งกระจาน

วันที่ 21 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ม.1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 120 คน ลงชื่อเรียกร้องเป็นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ที่จะมีการประชุมพิจารณาประจำปีในเดือนมิถุนายน 2562 นี้ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ทางรัฐบาลไทยหวังว่าจะมีการพิจารณารับการเสนอผืนป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกทางธรรมชาติแห่งใหม่สำหรับประเทศไทย

นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ชาวกะเหรี่ยงที่เป็นผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงอยู่ที่นี่มาเนิ่นนานแล้ว บรรพบุรุษของตนก็เกิดในพื้นที่นี้ ตนก็เกิดที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน เพิ่งถูกให้อพยพลงมาเมื่อไม่นานนี้ ชาวกะเหรี่ยงไม่คัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ก่อนขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านเสียก่อน เพราะเป็นความเดือดร้อนตลอดมาหลังจากอพยพย้ายชาวบ้านลงมา

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีหน้าที่ต้องทำตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ได้ตัดสินไว้เมื่อปี2561 ที่ผ่านมา

“จากกรณีที่ปู่คออี้ มีมิ และชาวบ้านฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติที่เผาทำลายบ้านเรือนและขับไล่ โดยศาลกำหนดให้กรมอุทยานฯ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรทีให้ยุติการจับกุม และให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หากอุทยานแห่งชาติปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 จะทำให้เกิดความเคารพและความร่วมมือในการรักษาวิถีวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง ตลอดถึงมีส่วนร่วมของทั้งสองฝ่ายในการรักษาสภาพแวดล้อม จนนำไปสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกได้ในที่สุด

โดยเนื้อความในจดหมาย ระบุว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอยไม่เห็นด้วยกับการเสนอมรดกโลกในช่วงเวลานี้ เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ไม่ยอมรับการมีตัวตนของชาวกะเหรี่ยง และยังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่อพยพย้ายชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินบางกลอยบน ออกจากชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ตลอดจนที่ผ่านมาชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ยังไม่มีการรับรู้และความเข้าใจแนวทางการเตรียมการเสนอเป็นมรดกโลก และการมีส่วนร่วมที่เพียงพอ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ชาวกะเหรี่ยงมีข้อเสนอให้รัฐยอมรับในวิถีชีวิตและวิถีวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงอย่างแท้จริง มิใช่การยอมรับเพียงการร้องรำทำเพลง หรือเพียงศิลปะการละเล่น

อีกทั้งไม่ยอมรับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในการกำหนดพื้นที่หลักควบคุม (แปลง CN) ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 แต่ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติปฏิบัติและดำเนินการต่อชาวกะเหรี่ยง

ตลอดจนขอกลับไปทำกินตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม คือ บ้านใจแผ่นดิน และบ้านบางกลอยบน โดยมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่เพียงพอตามวิถีวัฒนธรรม และระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียน

ข้อเรียกร้องสุดท้ายคือขอให้ยกเลิกการท่องเที่ยวซึ่งดำเนินการโดยบุคคลภายนอก จนกว่าชุมชนจะมีความพร้อมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอง

ในตอนท้ายของจดหมายชาวบ้านกะเหรี่ยงหวังว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะรับฟังข้อมูลจากชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ที่มีพื้นเพอยู่อาศัยมาก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกว่าหลายร้อยปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน