ทร.ฝึกซ้อมฝีพาย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกวันที่ 4-6 พ.ค. ก่อนถูกใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดในช่วงเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ช่วงปลายเดือนต.ค.

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ / เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กทม. พล.ร.ท.จงกล มีสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี ตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพายประจำเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

กองทัพเรือจัดให้มีการฝึกซ้อมฝีพายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ณ อู่หมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ก่อนจะอัญเชิญไปจอดบริเวณท่าราชวรดิฐ เป็นการถวายพระราชอิสริยยศเครื่องราชูปโภคตามโบราณราชประเพณี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.

จากนั้นจะถูกใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดในช่วงเสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ในช่วงปลายเดือนต.ค. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นราชประเพณีคู่สังคมไทยมายาวนาน

โดยได้รับอิทธิพลจาก คติอินเดียแต่ลักษณะการพระราชพิธี แต่เดิมมีแบบแผนรายละเอียดเป็นอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้แต่การเรียกชื่อพิธีก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละสมัย เช่น สมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเรียกว่า “พระราชพิธีราชาภิเษก” หรือ “พิธีราชาภิเษก” ส่วนในปัจจุบันเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในส่วนของกองทัพเรือเตรียมการจัดเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เทียบท่าราชวรดิฐ ในการพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่าง 4-6 พ.ค.62 และจัดเรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ

ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เดิมเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เป็นเรือพระที่นั่งขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายนก ปากแหลมยื่นยาว และมีเขี้ยว ส่วนลำคอยืดยาว ทอดลำตัวเป็นลำเรือ

ต่อมาในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้จัดเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ทรงพระบรมธาตุที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.2370 ต่อมาเรือมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลำปัจจุบันเป็นเรือที่สร้างขึ้นใหม่แทนเรือพระที่นั่งลำเดิมที่ชำรุด จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีนาวาสถาปนิก (Naval Architect) ต่อเรือคือ พล.ร.ต.พระยาราชสงคราม รน (กร หงสกุล) เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาล ที่ 5 แล้วเสร็จประกอบพิธีอัญเชิญเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2454 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์”

ลักษณะตัวเรือ โขนเรือเป็นรูปหงส์ ไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก ศิลปะรัตนโกสินทร์พุทธศตวรรษที่ 24 ท้องเรือภายนอกทาสีดำ ภายในทาสีแดง มีความยาว 44.90 เมตร ความกว้าง 3.14 เมตร ลึก 0.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตรหนัก 15.6 ตัน ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร คลองบางกอกน้อย

สำหรับการจัดกำลังพลประจำเรือในงานพระราชพิธีบรมราชภิเษกครั้งนี้ ใช้กำลังพลกองทัพเรือ จำนวน 64 คน ประกอบด้วย ฝีพาย 50 คน นายท้าย 2 คน นายเรือ 2 คน คนถือธงสามชาย 1 คน พลสัญญาณ 1 คน คนเห่เรือ 1 คน และคนถือฉัตร 7 คน โดยจะมีการซ้อมย่อยในวันที่ 26 เม.ย.62 และซ้อมใหญ่ ในวันที่ 30 เม.ย.62

ทั้งนี้หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่าง 4-6 พ.ค.62 จะอัญเชิญขึ้นเก็บที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร คลองบางกอกน้อย ในวันที่ 8 พ.ค.62 เพื่อเตรียมการจัดขบวนเรือพระราชพิธี ในการเสด็จเลียบพระนครทางชลมารค พร้อมกับการพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในช่วงปลายปี 2562 ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน