กำนันโวย อาคารริมโขง งบสร้าง 4 ล้าน น้ำท่วม 2 ปี ถูกปล่อยทิ้งร้าง ชาวบ้านค้านสร้างแล้ว ไม่มีใครฟัง

วันที่ 22 เม.ย. นายพินิตย์ หมื่นลูกท้าว กำนัน ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม พร้อมนายพงศ์พันธ์ คำมั่น อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ.หนาด หมู่ 2 ต.บ้านกลาง และตัวแทนชาวบ้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐ ขอให้ตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขอาคารด่านจุดผ่อนปรนชั่วคราว และอาคารคลังเก็บสินค้า รวม 3 หลัง ในงบประมาณก่อสร้างร่วม 4 ล้านบาท ปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ประโยชน์มานานกว่า 2 ปีแล้ว

นายพินิตย์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารทั้ง 3 หลัง โครงการของจังหวัดนครพนม แล้วเสร็จเมื่อปี 2558 บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำโขง ตลาดจุดผ่อนปรน บ.หนาด ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนไทย-ลาว ที่มีการเดินทางมาซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภค ไทยกับฝั่งลาว อยู่ตรงข้าม บ้านปากเป่ง เมืองหนองบก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ซึ่งตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย กำหนดเปิดทำการค้าขายชายแดนทุกวันอังคารและวันศุกร์ ในทุกสัปดาห์

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

กำนัน ต.บ้านกลาง กล่าวต่อว่า ปี 2558 มีการก่อสร้างอาคารจุดผ่อนปรน 1 หลัง ไว้เป็นสถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงาน อาทิ ตม. ศุลกากร ฝ่ายปกครอง อส. เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามไปมาของประชาชนสองฝั่ง

ณะเดียวกันได้มีการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าขึ้นอีก 2 แห่ง แต่ได้รับผลกระทบน้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง เกิดน้ำท่วมสูงมา 2 ปีแล้ว ระดับน้ำท่วมสูง 1.50 เมตร จากปัญหาระดับน้ำโขงล้นตลิ่ง ส่งผลให้ตัวอาคาร วัสดุอุปกรณ์สำนักงานได้รับความเสียหาย

“ล่าสุดปี 2561 น้ำโขงได้เอ่อล้นตลิ่งท่วมซ้ำอีก ทำให้ตัวอาคารทั้ง 3 หลัง ได้รับความเสียหายประตูกระจก ห้องน้ำ อุปกรณ์สำนักงาน ถูกดินโคลนทับถม กลายเป็นซาก หลังน้ำลดแต่ละปีพบว่ามีดินโคลนเข้าไปทับถมในอาคารหนา 30 เซนติเมตร และไม่สามารถใช้งานได้ กลายเป็นซากปรักหักพัง ใช้งานไม่คุ้มค่า

ชาวบ้านและผู้นำหมู่บ้านได้เคยเรียกร้องให้ ทางอำเมืองนครพนม และจังหวัดนครพนม รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องมาตรวจสอบแก้ไข แต่ติดขัดไม่มีงบประมาณซ่อมแซม เนื่องจากต้องยกระดับตัวอาคารขึ้นอีก 2 เมตรนายพินิจ ระบุ

ขณะที่ นายพงศ์พันธ์ กล่าวว่า อาคารจุดผ่อนปรนฯแห่งนี้ หลังสร้างเสร็จไม่ทันข้ามปีเกิดผลกระทบน้ำโขงล้นตลิ่งท่วมในเดือน ส.ค.2558 ชาวบ้านต้องช่วยกันขนย้ายอุปกรณ์สำนักงาน ออก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาทางป้องกันได้ เพราะจุดก่อสร้างอยู่บนตลิ่ง ทำให้น้ำโขงล้นตลิ่งไหลทะลักเข้าท่วมอาคาร

ก่อนลงมือสร้างชาวบ้านได้เคยคัดค้านการออกแบบไม่เหมาะสม ไม่มีการสำรวจความคิดเห็นชาวบ้าน สุดท้ายไร้ประโยชน์พังเสียหาย เสียดายงบประมาณ ชาวบ้านจึงขอฝากไปยังหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด (สตง.) ได้มาตรวจสอบด้วย เพื่อหาคนมารับผิดชอบ เนื่องจากงบก่อสร้างเป็นเงินภาษีของประชาชนร่วม 4 ล้านบาท กลับ ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานร่วม 2 แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน