ม.รังสิตเจ๋ง ใช้ กัญชา ยับยั้งมะเร็งปอด เปิดสถาบันวิจัย โชว์4ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

กัญชา / เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 เม.ย. ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต

พร้อมด้วยนพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ.ดร.ภก.ธนภัทร ทรงศักดิ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ผศ.ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

ร่วมแถลงข่าวค้นพบสาร CBN จากกัญชา ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งปอด โดยวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นับเป็นความสำเร็จของการวิจัย พร้อมเปิดสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์แห่งแรกในไทย รวมทั้งแนะนำ 4 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาประกอบด้วย ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

ดร.อาทิตย์กล่าวว่า กัญชาเป็นพืชที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากมาย มีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงว่ากัญชามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหลายชนิด และมีแนวโน้มการนำมาใช้ทางการแพทย์มากขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิตได้เล็งเห็นคุณค่าและคุณประโยชน์ของกัญชามาอย่างยาวนาน

และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่ขออนุญาตทำงานวิจัยกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 และได้รับอนุญาตเป็นรายแรกในปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อวิจัยและพัฒนายาและตำรับยาที่พัฒนาจากกัญชาให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผล

ผลงานวิจัยกัญชาด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ และถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของวิทยาลัยและคณะต่างๆได้อย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์” ขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำงานวิจัยกัญชาได้ทุกมิติ เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในการบำบัดโรค และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิง สุรางค์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้วิจัยการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารจากกัญชาในสัตว์ทดลอง เปิดเผยว่า โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลก

โดยเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เนื่องจากธรรมชาติของโรคที่ค่อนข้างดุดันและการไม่ตอบสนองต่อการรักษา ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคมะเร็งปอด ดังนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนายาต้านมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพ ยังมีความสำคัญต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเป็นอย่างยิ่ง

สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (cannabinoids) เป็นสารกลุ่มหลักที่พบในกัญชา โดยมีสาร 9-เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (9-tetrahydrocannabinol) (THC) เป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของมะเร็งหลายชนิดทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

ส่วนสารแคนนาบินอล (cannabinol) (CBN) เป็นสารที่เกิดจากการปฏิกิริยาของสาร THC ในระหว่างการเก็บรักษา พบได้มากในกัญชาแห้ง ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานการศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง การศึกษาวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสาร THC และ CBN ต่อมะเร็งปอดของมนุษย์ในสัตว์ทดลอง

จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากกัญชา คือ THC และ CBN มีฤทธิ์ลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหลอดทดลองได้ดี ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาผลของ THC และ CBN จากกัญชาต่อเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ในหนูทดลอง

พบว่าการฉีด THC และ CBN ในหนูทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดเป็นมะเร็งด้วยเซลล์มะเร็งปอดของมนุษย์ ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ หนูทดลองที่ได้รับสาร THC และ CBN มีขนาดของก้อนมะเร็งเล็กกว่าหนูกลุ่มที่ไม่ได้รับสารอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสาร THC และ CBN จากกัญชามีฤทธิ์ต้านมะเร็งปอดของมนุษย์ได้ ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมต้นแบบจากสารสกัดกัญชาอีก 4 ผลงาน ได้แก่ ยาเม็ดเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา ยาประสะกัญชา น้ำมันกัญชา และแคนนาบินอลสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในระหว่างที่เราวิจัยหาสาระสำคัญจากกัญชา โดยใช้รักษามะเร็งท่อน้ำดีภายในหนูทดลอง เกิดผลพลอยได้ระหว่างการวิจัย

พบว่านอกจากสาร THC แล้ว ยังมีสาระสำคัญที่จะเกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ทางคณะวิจัยตัดสินใจวิจัยต่อพบว่าสาร CBN สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดได้ ซึ่งสารภายในกัญชานั้นมีหลายร้อยชนิด การจะพบเรื่องใดเนื่องหนึ่งจึงเหมือนถูกหวย หรือต้องมีองค์ความรู้ในระดับหนึ่งเพื่อที่จะไปค้นหาว่าโรคอะไร กับสารสำคัญอะไรถึงจะมีผลต่อโรคนั้นๆ

ถือว่าเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มาก และขั้นถัดไปคือการคำนวณวิจัยในมนุษย์ ผมคิดว่าเมื่อมาถึงตรงนี้ควรจะไม่มีข้อห้ามใดๆแล้วต่อผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีทั้งผลงานการวิจัยในหนูทดลอง มีผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน ทั้งเวเฟอร์จากสารสกัดกัญชา น้ำมันกัญชา และสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก

ที่ทุกอย่างผ่านการคัดกรองจากตำหรับยาไทย ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง ที่เป็นตำราที่แพทย์ไทยแผนโบราณใช้อ้างอิงในการตรวจวินิจฉัย และรักษาอาการป่วยไข้สืบต่อกันมา ที่เรียกว่า ประสะกัญชา โดยเลือกตำหรับที่ใช้ส่วนผสมของกัญชาในอัตราส่วนมากที่สุด

การบูรณาการครั้งนี้ไม่ได้จบที่จะมีการวิจัยในมนุษย์ และกำลังจากมีการเพราะพันธ์ภายในแปลงเล็กๆ ภายในมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งกำลังจะมีการอนุญาตให้เอกชนรายแรกปลูกบนพื้นฐานองค์ความรู้ ภายใต้วิทยาลัยนวัตกรรรมการเกษตร เพื่อเป็นการพัฒนาสายพันธุ์กัญชา

ความสำคัญอยู่ที่การบูรณาการที่ทาง ม.รังสิต รู้สารสำคัญในการรักษาโรค ทั้งหมดจะถูกแยกแยะตามวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมือนกันเลย ไม่ใช้น้ำมันกัญชาที่ใช้กันทั่วไป แต่เป็นยาที่ถูกออกแบบมาแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แม้ว่ายานั้นจะทำมาจากต้นกัญชา

เราไม่ต้องซื้อสิทธิบัตรต่างชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด หลังจากนั้นจะมีการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้เกษตรมีโอกาสได้ปลูกตามการรักษาโรคตรงกับที่มนุษย์ต้องการต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน