ทช.เผยปะการังฟอกขาวเริ่มฟื้นตัว จาก 123 พื้นที่ทั่วทะเลอันดามัน-อ่าวไทย เหลือเพียง 6 พื้นที่ที่มีแนวปะการังฟอกขาวอยู่ในระดับที่สูง วอนปชช.เลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อปะการัง และร่วมมืออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล การท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน กรมฯทะเลและชายฝั่ง ได้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงของปะการังฟอกขาวร่วมกับเครือข่ายทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัย และนักดำน้ำอาสาสมัคร จำนวน 123 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 51 และพื้นที่ฝั่งอาวไทย 72 พื้นที่
ในขณะนี้พบว่าสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่ส่วนใหญ่เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง และปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเริ่มฟื้นตัว และมีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นที่ปะการังฟอกขาวยังอยู่ในระดับที่สูง
ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดฝั่งทะเลอันดามันปะการังส่วนใหญ่ยังคงมีสีซีดจางและกำลังฟื้นตัว ยกเว้นแนวปะการังชายฝั่งที่พบว่ามีปะการังฟอกขาวมากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง คือมีปะการังฟอกขาวไม่เกินร้อยละ25 ของปะการังที่มีชีวิต
เนื่องจากได้รับอิทธิพลของน้ำจืดจากปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลโดยเฉลี่ยลดลงจาก 31.29 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 30.3 องศาเซลเซียสและคาดว่าจะลดลงอีก ส่วนฝั่งทะเลอ่าวไทยยังมีการฟอกขาวแต่อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง พบปะการังฟอกขาวไม่เกินร้อยละ 25 ของปะการังที่มีชีวิต
สรุปโดยรวมทั้งประเทศมีเพียง 6 พื้นที่ หรือ ร้อยละ 5 ของพื้นที่แนวปะการังที่ยังมีการฟอกขาวอยู่ในระดับที่สูง ได้แก่ หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี เกาะมะปริง จ.ตราด เกาะยักษ์ จ.ตราด เกาะพร้าวนอก จ.ตราด หาดในยาง จ.ภูเก็ต และเกาะกำนุ้ย จ.ระนอง อย่างไรก็ตามกรม ทช. ยังคงมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
“สภาวะที่ปะการังเกิดการฟอกขาวเป็นช่วงที่กำลังอ่อนแอลง กรมฯ ขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องโปรดระมัดระวังเป็นพิเศษในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ บริเวณแนวปะการังที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเพิ่มขึ้นกับปะการัง เช่น งดการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล หลีกเลี่ยงการจับต้อง หรือสัมผัสปะการัง อีกทั้งควรร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อธิบดีทช. กล่าวย้ำ
อ่านข่าว ทช. เฝ้าระวังปะการังฟอกขาว ชี้อากาศร้อนส่งผลกระทบหนัก เตือนนักดำน้ำ ห้ามจับเด็ดขาด
ปะการังฟอกขาว เป็นปรากฏการณ์ที่ตัวปะการังขับเอาสาหร่ายซูแซนเทลลี่ออกจากเซลล์ เนื่องจากตัวปะการังเกิดความเครียดสะสมจากสภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกิน 30.5 องศาเซลเซียล ในภาวะเช่นนี้ตัวปะการังจะอ่อนแอลง ซึ่งหากอยู่ในสภาพนี้นานๆ เกิน 3 อาทิตย์ ปะการังก็จะฟอกขาวและตายได้ในที่สุด แต่หากสภาพแวดล้อมกลับมาเป็นปกติในเวลาไม่นานนัก สาหร่ายก็จะกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับปะการังเช่นเคย และปะการังก็กลับมามีชีวิตอยู่ได้เหมือนเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน