เอาจริง! ปล่อยบ้าน-อาคารเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ‘ยุงลาย’ โดนคุก 3 เดือนปรับอ่วม ชี้มีความผิดตามกฎหมาย สั่งปรับปรุงแก้ไขได้ หากไม่ทำตามมีโทษทั้งจําทั้งปรับ

ยุงลาย / เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปีนี้โรคไข้เลือดออกระบาดรุนแรง ทุกคนต้องช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเฉพาะภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขัง ทั้งนี้ ลูกน้ำหรือตัวโม่งยุงลายถือเป็นเหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นเหตุรําคาญ พ.ศ.2545 ภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

หากตรวจสอบพบว่าเจ้าของบ้าน อาคาร หรือสถานที่ต่างๆ ปล่อยให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่ได้รับการแต่งตั้ง สามารถควบคุมได้ทันที ตั้งแต่ 1.ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ทราบถึงอันตรายของโรค ลักษณะอาการ การควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งผลทางกฎหมาย

2.เฝ้าระวังโรคและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ 3.หากพบว่าบ้าน อาคาร หรือสถานที่ใดของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้เจ้าพนักงานแจ้งหรือแนะนำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาตามสมควร และ 4.หากไม่ปรับปรุงแก้ไขตามกำหนด ให้เจ้าพนักงานออกคำสั่งเป็นหนังสือตามมาตรา 28 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองปรับปรุงแก้ไขในเวลาตามสมควร หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จะมีความผิดตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นพ.ดนัย กล่าวว่า กรณีตรวจพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในที่หรือทางสาธารณะ หากไม่ทราบว่าผู้ใดทำให้เกิดขึ้น เจ้าพนักงานสามารถดำเนินการได้ทันที โดยการถม ระบายน้ำทิ้ง คว่ำ หรือใส่สารเคมีกำจัดลูกน้ำ แล้วแต่เหมาะสม แต่หากทราบว่าเกิดจากการกระทำของบุคคลใด ให้ออกคำสั่งให้บุคคลนั้นปรับปรุงแก้ไขในเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้ท้องถิ่นลงโทษตามมาตรา 85 ส่วนกรณีเป็นอาคารรกร้างว่างเปล่าหรือก่อสร้างไม่เสร็จ ไม่ปรากฏเจ้าของชัดเจน ให้ราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้นได้

“สิ่งสำคัญ คือทุกคนต้องจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณบ้าน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยกำจัดเศษขยะและคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง ทำความสะอาดและเก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบ เปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่กักเก็บน้ำทุกสัปดาห์ เช่น แจกัน น้ำพุเทียม กระถางต้นไม้ เป็นต้น เพื่อทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของยุง รวมถึงใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำยุง และใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของยุง ปกปิดภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายเข้าไปวางไข่ ติดตั้งตาข่ายหรือมุ้งลวดประตูและหน้าต่างเพื่อกันยุง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน