กัญชาบรรเทาโรคผิวหนัง ต้องรองานวิจัยชี้ชัดก่อน : รายงานพิเศษ

คอลัมน์รายงานพิเศษ

การนำ ‘กัญชา’ มารักษาโรคเป็นที่กล่าวขวัญอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับในวงการแพทย์และเภสัชกรรมที่ได้เห็นความสำคัญและพยายามศึกษาค้นคว้าในเรื่องการนำกัญชามาใช้อย่างถูกวิธีในทางการแพทย์ เนื่องจากกัญชาจัดอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง

ดังนั้น การศึกษาเพื่อประเมินระหว่างข้อดีและข้อเสีย จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งก่อนที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรคได้โดยไม่มีผลเสียต่อสุขภาพของผู้ใช้รวมทั้งผลกระทบกระเทือน อื่นๆ ในสังคมด้วย

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยขอนำเรื่องการนำ “กัญชา” มาใช้ในการรักษาโรค โดยเฉพาะประเด็น กัญชาช่วยบรรเทาอาการทางโรคผิวหนังได้จริงหรือมาพูดถึง

โดย พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กัญชามีสารประกอบแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ที่สามารถใช้ในการรักษาโรคได้ โดยสารที่

พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี

ออกฤทธิ์คือ Delta-9-Tetrahydrocannabinol (THC) ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และ Cannabidiol (CBD) ที่ไม่มีฤทธิ์เสพติด ในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่เสพกัญชาทั้งหมดนั้นจะมีประมาณ 10% ที่ใช้เพื่อเป็นวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

มีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับการใช้กัญชาสำหรับบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง, อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ, โรคเบื่ออาหารและคลื่นไส้ ในรอบปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาถึงการใช้กัญชาในการบรรเทาอาการทางโรคผิวหนังเพื่อระงับอาการคัน, บวม, อักเสบ และการเกิดมะเร็งผิวหนัง

มีการศึกษาการใช้กัญชารักษาอาการคันของผิวหนังพบว่ามีผลในการรักษาอาการคันของผู้ป่วยได้ถึง 86.4% นอกจากนี้ยังคาดว่ากัญชาอาจมีคุณสมบัติในการระงับการอักเสบ ซึ่งมีประโยชน์สำหรับใช้ในการรักษาโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง(Atopic dermatitis) และโรคผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) ซึ่งพบว่ากัญชาช่วยลดอาการแพ้, อาการบวมและการอักเสบในสัตว์ทดลองได้

จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกัญชาโดยทั่วไป มีข้อสันนิษฐานว่ากัญชาน่าจะเป็นประโยชน์ สำหรับการรักษาโรคสะเก็ดเงินและมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากกัญชามีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเซลล์ผิวหนัง ไม่ให้สร้างมากเกินไป มีการศึกษาการใช้สารสกัดจากเมล็ดกัญชามาใช้ทารักษาสิวและรังแคอักเสบ(Seborrheic dermatitis) พบว่ากัญชาช่วยลดอาการแดงและผิวมันได้

อย่างไรก็ตาม พบการศึกษาวิจัยให้ผลตรงข้ามกัน เนื่องจากบางการศึกษาพบว่าการใช้กัญชาที่ผิวหนังอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบแทนที่จะลดการอักเสบ และบางการศึกษาพบว่ากัญชาอาจลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดแต่อาจลดการเจริญของเซลล์ผมด้วย

ดังนั้นจึงควรสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยทางด้านกัญชามากขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนในด้านการรักษาทั้งในด้านบวกและด้านลบ

พญ.ชินมนัสกล่าวด้วยว่า สรุปแล้วนอกเหนือไปจากกัญชาจะมีข้อเสียที่เป็นยาเสพติดที่ก่อให้เกิดความมึนเมาขาดการควบคุมสติสัมปชัญญะได้ แต่อาจมีผลดีในด้านการบรรเทาอาการและรักษาโรคผิวหนังบางชนิดจากผลการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาดังได้กล่าวข้างต้น แต่ในขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะกัญชาที่ยังไม่ผ่านการรับรองตำรับจากคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในกลุ่มอาสาสมัครจำนวนน้อย

ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในงานวิจัยจำนวนมากกว่านี้ และยังต้องคำนึงถึงการควบคุมการผลิตยาจากกัญชาด้วยอัตราส่วนที่ถูกต้อง รวมทั้งข้อบ่งชี้ในการใช้บรรเทาและ/หรือรักษาโรคที่ชัดเจนและเหมาะสมก็จะเป็นผลดีแก่ผู้ป่วยและวงการแพทย์ต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน