เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 มี.ค. ที่ รร.เชียงใหม่ฮิลล์ 2000 จ.เชียงใหม่ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เดินทางมามอบนโยบายในเวทีการประชุมติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษาโครงการทวิศึกษา ปีการศึกษา 2560 ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประกอบด้วย 1.สัดส่วนผู้เรียนมัธยมศึกษา : อาชีวศึกษา ปีการศึกษา 2555 – 2559 2.ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 3.แนวทางการเพิ่มผู้เรียนอาชีวศึกษา และ4.ทบทวนนโยบายสำคัญ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 9 เขตในพื้นที่ภาคเหนือ เข้ารับทราบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานเต็มความจุห้องประชุม

นายสุเทพ กล่าวเปิดการประชุมว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางสัญจรมาในครั้งนี้ เพื่อติดตามการดำเนินการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งในส่วนของ สอศ.ได้กำหนดแผนการรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 ไว้ที่ 329,069 คน แบ่งเป็นสถานศึกษารัฐ 196,442 คน และสถานศึกษาเอกชน 132,627 คน เพิ่มขึ้น 107,207 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 48.33 จากปีการศึกษา 2559 ที่มีผู้เรียนอาชีวศึกษาทั้งสิ้น 221,862 คน

อย่างไรก็ดี แม้ส่วนตัวยอมรับว่าตัวเลขเพิ่มขึ้น 1 แสนคนจะเป็นเรื่องที่หนักใจ เนื่องจากค่านิยมของพ่อแม่ผู้ปกครองรวมทั้งเด็กส่วนใหญ่ ยังให้ความสำคัญในการเรียนต่อสายสามัญ และระดับอุดมศึกษา เพราะต้องการได้รับใบปริญญาบัตร แต่มั่นใจว่าในไม่ช้าค่านิยมนี้จะเปลี่ยนไป เพราะเรียนจบแล้วไม่มีงานตามสายที่เรียนมารองรับ หลายคนต้องหันไปประกอบอาชีพเอง ฉะนั้นสุดท้ายแล้วเด็กหรือผู้ปกครองจะคิดได้เองว่าควรเลือกเรียนสายอาชีพ เพราะจบแล้วมีงานรองรับ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีพให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน สอศ.จะทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อจัดการเรียนการสอนระบบทวิศึกษาให้กับสถานศึกษาสังกัด อปท.ด้วย เนื่องจากพบปัญหาว่าที่ผ่านมาสถานศึกษาที่จัดโครงการนี้ไม่ได้รับงบประมาณดำเนินการ

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ตนจะทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเฉพาะนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อขอให้ครูอาชีวศึกษาเข้าไปแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา แม้ผอ.โรงเรียนจะให้ความร่วมมือ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เช่น ให้นักเรียน ม.2 หรือเด็กห้องคิง มาเข้ารับการแนะแนว เป็นต้น

 

ดังนั้น จึงขอให้ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ได้ประสานการทำงานเรื่องระบบการแนะแนวให้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ขอกำชับให้ผอ.สถานศึกษาอาชีวศึกษา อยู่ประจำวิทยาลัยเพื่อบริหารให้มีประสิทธิภาพด้วย เนื่องจากมีข้อมูลว่าสถานศึกษาบางแห่งยังไม่ออกใบประกาศนียบัตรวิชาชีพให้เด็กที่จบการศึกษา เพราะผู้บริหารซึ่งมีหน้าที่เซ็นใบจบการศึกษาไม่อยู่วิทยาลัย แต่กลับพบมาอยู่ที่ สอศ.ซึ่งไม่รู้ว่ามาทำไม ฉะนั้นต่อจากนี้ขอให้ผู้บริหารใส่ใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย

“ผมไม่รู้สึกหนักใจหากนโยบายที่ได้สั่งการไป เพราะมั่นใจว่าทุกคนปฏิบัติอย่างเต็มที่แล้ว และตัวเลข 1 แสนกว่าคนนี้ ก็เป็นตัวเลขผู้เรียนสายอาชีพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบ หรืออุดมศึกษา ฉะนั้นแม้สุดท้ายแล้วตัวเลขจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่หากจำนวนผู้เรียนเพิ่มขึ้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว เนื่องจากสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลคิดหาแนวทางรับนักศึกษาในปีถัดไปให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยสิ่งที่ผมมองเห็นปัญหาและจะต้องดำเนินการแก้ไขเร่งด่วนในปีถัดไป คือการปรับลดจำนวนห้องเรียนในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงลง เช่น บางโรงเรียนเปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 8 ห้องเรียน ก็อาจให้ลดเหลือ 5 ห้องเรียน เป็นต้น รวมถึงจะส่งเสริมให้เปลี่ยนระบบแนะแนวการเข้าเรียนต่อสายอาชีพให้มีความเข้มข้นมากขึ้นและทำอย่างจริงจังมากกว่าที่ผ่านมา โดยหลังจากนี้ผมจะรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. พิจารณากำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติต่อไป” นายสุเทพ กล่าว

ด้านนายไพบูลย์ วงศ์ยิ้มย่อง ผอ.วิทยาลัยเทคนิค (วท.) เชียงใหม่ ในฐานะประธานกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วน วท.เชียงใหม่ ปีนี้จะจำกัดจำนวนการรับนักศึกษา เพื่อกระจายผู้เรียนไปยังวิทยาลัยอื่นๆ จากเดิมที่รับนักศึกษา จำนวน 1,100 คนจะปรับลดเหลือ 800 คน แต่ยังคงสาขาที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานไว้ เช่น สาขาเทคนิคยานยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากโรงเรียนสายสามัญมีความจริงใจในการปล่อยเด็กออกมา ตัวเลขของเด็กที่จะมาเรียนสายอาชีพจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของผู้ปกครองว่าเมื่อเข้าเรียนสายอาชีพแล้วจบออกมามีงานทำอย่างแน่นอน และหวังว่าทุกๆวิทยาลัยจะให้ความสำคัญในการเพิ่มยอดผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะไม่เข่นนั้นประเทศไทยคงไม่สามารถพัฒนาบุคลากรให้ไปสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน