วันแรก กทม.จับปรับ จยย.ขึ้นทางเท้า ได้ 1.2 แสนบาท จ่อขอซื้อรถยกเพิ่ม เพื่องานนี้!

วันที่ 2 ส.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงโครงการจับ-ปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่ หรือจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ที่กำหนดเพิ่มโทษอัตราค่าปรับขั้นต่ำ จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท เมื่อวันที่ 1 ส.ค. เป็นวันแรก ว่า ทั้ง 50 เขต สามารถจับผู้ฝ่าฝืนขับขี่บนทางเท้าได้ 83 ราย ผู้ฝ่าฝืนยินยอมจ่ายค่าปรับแล้ว จำนวน 67 ราย ค่าปรับรวม 127,000บาท

อยู่ระหว่างดำเนินการ (ยังไม่ได้จ่ายค่าปรับ) 16 ราย โดยยึดรถไว้ที่สำนักงานเขตรอผู้กระทำผิดมาจ่ายค่าปรับ สำหรับสำนักงานเขตที่ จับ-ปรับ ได้มากที่สุด ได้แก่ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 14 ราย ค่าปรับ 28,000 บาท

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

นายสกลธี กล่าวต่อว่า กรณีผู้ฝ่าฝืนฯไม่มีเงินค่าปรับ เจ้าหน้าที่จะยกรถไปไว้ที่สำนักงานเขตก่อน เมื่อมีเงินค่าปรับค่อยนำมาชำระค่าปรับแล้วนำรถกลับไป ปัจจุบัน กทม.มีรถยก 6 คัน แบ่งใช้กลุ่มเขต ละ 1 คัน ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 จะมีการขอจัดสรรงบ เพื่อจัดซื้อรถยกเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หากกทม.ไม่เข้มงวดกวดขัน การกระทำคงไม่ลดลง แม้จะมีการจับปรับเยอะ แต่บางจุดยังฝ่าฝืนอยู่และมีประชาชนร้องเรียนมาเยอะ นอกจากนี้ สำนักเทศกิจ อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อนำมาช่วยในการกวดขันผู้ฝ่าฝืนฯ ซึ่งแอพฯนี้ จะเป็นฐานข้อมูลผู้กระทำความผิด สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการกระทำผิดซ้ำหรือไม่ ถ้ามีการทำผิดซ้ำจะเพิ่มโทษปรับอีกเป็น 3,000-4,000 หรือ 5,000บาท

ขณะเดียวกัน กทม.อยู่ะระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อติดตั้งกล้องซีซีทีวี ในจุดที่ไม่มีการตั้งจุดจับ-ปรับ เพื่อช่วยกวดขันผู้ฝ่าฝืนฯอีกด้วย รวมถึง จะหารือกับกรมขนส่งทางบก คาดโทษวินมอเตอร์รับจ้าง ที่ขับบนทางเท้า ว่าสามารถคาดโทษพักใบอนุญาตขับขี่รถ 7-15 วัน ได้หรือไม่ อีกทั้ง จะมีการย้ายจุดจอดวิน ไม่ให้กีดขวางทางเดินเท้า นำร่องบริเวณสถานีบีทีเอส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน